Wednesday, 17 April 2024

อย่าเรียกผมว่า Blogger

“Do not ask who I am and do not ask me to remain the same. More than one person, doubtless like me, writes in order to have no face.”

Michel Foucault

ผมมักจะถามตัวเองทุกครั้งเวลาถูกถามว่าเป็น blogger หรือไม่ เพราะผมเป็นคน “ไม่สบายใจ” ไปจนถึง “อึดอัดและหงุดหงิด” (frustrated) ทุกครั้งที่จะต้องถูก “จัดประเภท” ให้ชัดเจน (ตั้งแต่สมัยเรียนแล้ว เช่น อยู่สายทฤษฏีไหน?) และด้วยลักษณะของสิ่งที่ปัจจุบันที่ผมทำอยู่ ผมคิดไม่ออกว่าผมเป็น Blogger หรือไม่ เพราะมันเป็นงานอดิเรกที่ผมสนุกด้วยเท่านั้น เทียบแล้วมันเหมือนกับละครอันหนึ่งที่ผมเป็นผู้กำกับเอง ถ้าผมตัดสินใจดีดนิ้วเลิก ทุกอย่างก็จบ

จนกระทั่งเมื่อวันสองวันที่ผ่านมา ก็มีกระแสพยายามในการจัด blogger ให้เป็น “ระเบียบ” (ว่าง่ายๆ คือเริ่มเอา “ระเบียบ” (order) เข้ามาใช้ เพื่อที่จะสร้างสิ่งที่เรียกว่า “อำนาจในการต่อรองผลประโยชน์” ซึ่งทั้งหมดเป็นกระบวนการปกติที่สุดในสังคม เรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมชาติของสังคมและผมเชื่อว่ามันถึงขั้นน่าจะเป็นพื้นฐานของมนุษย์ด้วยซ้ำ (ในเชิงที่ว่าคือลึกถึงระดับ DNA นะ ผมเองก็ไม่รู้) แม้ว่ากระบวนการหรือวิธีคิดในการรวมตัวกันเพื่อผลประโยชน์ จะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับการค้า (ไม่กล้าฟันธงว่าคริสตศตวรรษไหน แต่น่าจะปลายยุคกลาง) แต่นั่นก็เป็นภาพสะท้อนของมนุษย์มาแต่แรก

กระบวนการนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ ในทางการเมือง การรวมกลุ่มผลประโยชน์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามปกติ ในการที่จะสร้างกระบวนการทางนโยบาย และออกมาเป็นนโยบาย (policy formulation) ซึ่งทั้งหมดต้องอาศัยกลุ่มผลประโยชน์ทั้งสิ้น

เพียงแต่ว่าในที่สุด การเริ่มต้นนิยามของคำว่า “blogger” ก็เริ่มเป็นปัญหาขึ้นมาทันที เพราะคำว่า blogger มันมาพร้อมกับอินเทอร์เน็ต มันเป็นคำร่วมสมัยของเราที่พยายามนิยามคนสร้างเนื้อหาในอินเทอร์เน็ตที่เป็นระบบ คำถามคือ ใครบ้างที่จะเป็นส่วนที่ถูกนับ ใครที่จะเป็นส่วนที่ไม่ถูกนับ และใครที่จะเป็น “ส่วนที่ถูกนับเพื่อที่จะไม่นับเป็นส่วน” บ้าง?

ถ้าหากคิดไปไกลกว่านั้น คนอย่างผมที่ทำเรื่องพวกนี้ทั้งหมดเป็นงานอดิเรก ไม่สนใจตัวเงินเลย และเอาจริงๆ ก็ไม่ได้สนใจว่าใครจะให้ยืมหรือให้เขียนผลิตภัณฑ์อะไร (คือถ้าไม่มีหรือไม่ให้แล้วต้องการรีวิวมากๆ ก็ซื้อ แค่นั้น) คำถามคือ ผมมีผลประโยชน์ร่วมกับคนที่นิยามตัวเองเป็น blogger หรือไม่?

มี blogger ท่านหนึ่งบอกว่า คนที่เป็น blogger มันทำเงินได้ ใช่ครับ มันทำเงินได้ แต่มันขึ้นกับคนด้วยว่าจะเลือกหรือไม่ที่จะทำเงิน เพราะในที่สุดแล้ว blogger มันคืออะไรกันแน่? แค่เริ่มจะพยายามนิยาม ผมว่าก็คงน่ารำคาญจนต้อง #เดี๋ยวทุ่มด้วยโพเดี้ยม แล้ว

สำคัญก็คือ มีคนจำนวนไม่น้อย ที่ไม่ได้อยากจะเป็น blogger แต่ถูกจัดประเภทจากคนทุกกลุ่มเป็น blogger และไม่ได้ต้องการเงินสักสลึง เพียงแต่เขาต้องการพื้นที่ ซึ่งสื่อแบบเดิม (อย่างหนังสือพิมพ์) ไม่มีทางให้เขาได้ (คุณไม่มีทางเป็นคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์ได้ง่ายๆ) อินเทอร์เน็ต จึงเป็นหนังสือพิมพ์ขนาดใหญ่ ของคนเหล่านี้ ไม่มีเส้นตาย ไม่มีกองบรรณาธิการ ไม่มีปิดหน้า ไม่มีพาดหัวก่อนทุ่ม ไม่มีส่งโรงพิมพ์ แต่คนเหล่านี้ถ้าคุณถามดีๆ หลายคนก็ไม่อยากได้เงิน เขาอยากทำสนุกๆ เท่านั้น

พูดแบบนี้อาจจะมีคนชี้หน้าหรือหยิบผมไปนินทาโดยพูดว่า “ก็เอ็งบ้านรวย” ซึ่งผมคิดว่าเป็นคำตอบที่โคตรไม่ตรงคำถาม (irrelevant answer) เป็นคำตอบแบบ “วาทศิลป์” ที่ “เลี่ยงประเด็น” (rhetorical answer) ที่น่าสมเพชและไร้ยางอาย (shame) ถ้าปากของเราบอกว่า “มนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน” ซึ่งถ้าจะตอบโต้กับคำถามที่ไร้สติเช่นนี้ผมคงไม่อยากโต้ นั่นก็เพราะมีคนจำนวนมากอีกเช่นกัน ที่ไม่เคยสนใจเรื่องของฐานะตนเอง แต่ขอให้ได้เขียน เพียงเพราะเขียนในสิ่งที่ตนเองชอบเท่านั้น

แน่นอนว่าในพื้นที่ของโลกสมัยใหม่ โดยเฉพาะโลกเสรีนิยมสมัยใหม่ มนุษย์ทุกคนตกอยู่ภายใต้วิธีคิดแบบ homo economicus อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพียงแต่ว่าในท้ายที่สุด มันขึ้นอยู่กับว่าในความเป็นจริงขิงชีวิตจริง คุณเลือกที่จะยืนหรือมีพื้นฐานอยู่บนความเชื่ออะไร

ถ้าจะรวมตัว blogger กันจริงๆ เพื่อเรียกร้องผลประโยชน์ สร้างอำนาจต่อรองด้านค่าตัว ราคาโฆษณา ผมเห็นด้วยและเป็นสิ่งที่ดี นั่นเพราะเป็นกระบวนการพื้นฐานทางสังคม

แต่อย่ามานับผมเป็น blogger เลยถ้าจะนับตามเกณฑ์ (criteria) แบบนี้ เพราะผมไม่มีค่าตัว ไม่เคยเขียนเพื่อเงินทอง และไม่เคยชอบที่จะให้คนอื่นมานิยามเอาตามใจว่าผมเป็น blogger เพราะตรงกับเกณฑ์ข้างต้นเท่านั้น ผมรู้สึกกระอักกระอ่วนใจครับ

เรื่องแนะนำ

ใช้ GCP f1-micro รันเว็บไซต์ส่วนตัวฟรีๆ – ตอนที่ 4 เปิด swap + ล็อค IP Address

หลังจากเราเปิดบัญชี GCP และ เริ่มรัน Virtual Machine บน Compute Engine ตามขั้นตอนในตอนที่แล้ว มาในตอนนี้เราจะเริ่มต้นเปิด swap และล็อค IP Address กันครับ

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here