การที่บอกว่าศาสนาเป็นเครื่องมือในการสอนให้คนเราอยู่ร่วมกันหรือเป็นเรื่องของแนวทางวัตรปฏิบัติสำหรับคนในสังคมนั้น เป็นความเข้าใจของคนกลุ่มหนึ่งซึ่งพยายามมองว่า ศาสนาเป็นสิ่งที่ยังคงมีบทบาทในสังคมและมีพื้นที่อยู่บนโลกของสมัยใหม่ ซึ่งมีความเหนือกว่าปรัชญาในฐานะที่เป็นตัวเพิ่มหรือสอนกระบวนการคิดและเป็นแนวทางในการดำรงชีวิตของมนุษย์
ความเชื่อเช่นนี้มีข้อบกพร่องอย่างน้อยสองประการ ซึ่งผู้เขียนอาจจะขอตั้งข้อสังเกตอย่างหยาบๆ เอาไว้ในงานเขียนชิ้นนี้ดังต่อไปนี้
ประการแรก ศาสนาเป็นสภาพโครงสร้างที่มีความไกลและตายตัวกว่าปรัชญา นั่นก็เพราะปรัชญานั้นเกิดขึ้นแล้วจบสิ้นคำอธิบายลงไปพร้อมกับความตายของมนุษย์เป็นส่วนใหญ่ ขณะที่ศาสนากลับครอบคุลมถึงก่อนมีชีวิตและชีวิตหลังความตายด้วย แน่นอนว่าอาจจะมีปรัชญาบางสายที่มีการอ้างอิงถึงอำนาจเทวสิทธิ (เช่น Saint Thomas Aquinas หรือ St Augustine) แต่การอ้างอิงเหล่านั้นเป็นไปเพื่อการสร้างฐานอำนาจ รวมไปถึงท้าทายกระบวนการคิดแบบเก่า (อย่างน้อยที่สุดการแทรกตัวของคริสต์ศาสนาเมื่อแพร่เข้าสู่ยุโรป เป็นสิ่งที่ต้องใช้ปรัชญาเข้ามาจัดการกับความเชื่อในท้องถิ่น) สำหรับนักปรัชญาหลายคน คำถามที่ว่า What is God? เป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างมาก เพราะมันจะเป็นการอธิบายเรื่องของชีวิตหลังความตายและจุดกำเนิดของจักรวาล ขณะที่ศาสนาโครงสร้างเหล่านี้ไม่สามารถตั้งคำถาม (unquestionable) หรือถ้าตั้งได้ก็จะถูกล็อกโดยตรรกะของศาสนาเอง
ศาสนาในโลกสมัยใหม่ที่อิงกับรากฐานของคัมภีร์ตัวอักษร ที่เริ่มต้นขึ้นจากการแพร่ขยายของพวกชาวอารยันที่อาศัยการใช้ม้าเป็นพาหนะ ต่างกับศาสนาที่มีความเป็น local ซึ่งอิงกับสถานที่ (place ต่างๆ ตัวอย่างเช่นผีและปีศาจ) เมื่อเป็นเช่นนี้โครงสร้างของศาสนาจึงเอื้อให้เกิดการขยายตัว สิ่งที่ตามมาคือลักษณะของคำอธิบายที่จะต้องยึดตรึงผู้คนให้เข้ามาอยู่ในโครงสร้างของศาสนาตน และกระบวนการออกจากศาสนาหรือการต่อรองนั้นจะต้องทำได้โดยยาก เนื่องจากศาสนาต้องการทั้งตัวและจิตวิญญาณในการทุ่มเท เป็นกระบวนการในการหา “กองทัพ” (conscription) แบบตลอดชีวิต ดังนั้นคำอธิบายจำนวนมาก จึงต้องผู้อยู่กับมนุษย์ในฐานะที่เกิดมามีชีวิตที่ “บัดซบ” หรือเป็น “ทาส” (enslave) แบบใดแบบหนึ่ง เพื่อให้คนๆ นั้นอยู่ในโครงสร้างของศาสนาได้ ตัวอย่างเช่นในกรณีของพุทธศาสนาที่บอกว่าทุกคนเกิดมามีกรรม ทุกคนเกิดมาเพราะกรรมบางอย่าง การจะหลุดพ้นจากความบัดซบต่างๆ จึงต้องกระทำด้วยสิ่งที่เรียกว่า “กรรมดี” หรือในกรณีของคริสต์ศาสนาที่อิงฐานรากจาก original sin ของอดัมและอีฟเป็นต้น
โครงสร้างของศาสนานั้นมีคำอธิบายที่เป็นลักษณะทั้ง a priori (ก่อนเกิด) และ a posteriori (หลังตาย) ซึ่งก็คือการอธิบายว่ามนุษย์ก่อนเกิดจะเป็นอย่างไร และตายแล้วจะไปไหน การที่มีโครงสร้างแบบนี้ล็อกคนเอาไว้ ก็ทำให้การออกจากศาสนาเป็นเรื่องที่มีความยากลำบากอย่างมาก การออกจากศาสนาย่อมจะต้องมีราคาจ่ายที่แสนแพง ในโลกของคริสต์ศาสนา มีบางกลุ่มนิกายที่เชื่อว่า การไม่เชื่อในพระเจ้าจะนำพาไปสู่นรก ขณะที่พุทธศาสนาก็มักจะบอกว่าคนที่ออกจากศาสนาไป ก็ไม่ได้ทำให้กรรมที่กระทำไปแล้วในความเป็นพุทธจบสิ้นลงไป การออกจากศาสนาจึงมีต้นทุนและราคาที่แพงเสียยิ่งกว่าการถูกศาสนาเฆี่ยนตีด้วยบาปเคราะห์ทั้งหลายทั้งปวง กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือชีวิตภายใต้ร่มศาสนานั้นยังมีหลักประกันมากกว่าชีวิตที่ไม่มีร่มภายใต้ศาสนานั่นเอง ผิดกับกรอบทางปรัชญาที่มักจะจบสิ้นลงไปอย่างดื้อๆ พร้อมกับความตายของมนุษย์
กรอบที่ไปได้ไกลกว่าตัวปรัชญาเช่นนี้ ย่อมทำให้มนุษย์ถูกล็อกอยู่ในกรอบของศาสนาอย่างดื้นไม่หลุด นั่นก็เพราะศาสนาเล่นอยู่บนพื้นฐานของความกลัวตายของมนุษย์นั่นเอง ขณะที่ปรัชญากลายเป็นสิ่งที่มีความเป็นมนุษย์ (humanism) มากกว่า แต่สภาพนี้ของปรัชญาเองก็มาพร้อมกับความเป็นสมัยใหม่ (modernity) ด้วย ดังนั้นในอดีตลักษณะของปรัชญาจึงมีความอ้างอิงและโน้มเอียงไปใกล้กับศาสนามากพอสมควร อย่างไรก็ดีเมื่อพูดให้ถึงที่สุด ปรัชญาแทบจะมี่มการกล่าวถึงชีวิตหลังความตาย ซึ่งเป็นตัวตรึงโครงสร้างของมนุษย์ให้อยู่ในกรอบของศาสนาได้อย่างเหนียวแน่นมากว่า
สอง สังคมสมัยใหม่ศาสนาไม่ใช่เรื่องส่วนรวม แต่เป็นเรื่องส่วนตัว ในโลกของสังคมสมัยใหม่ พื้นฐานของศาสนานั้นเป็นเรื่องของปัจจัยส่วนบุคคล สำหรับนักวิชาการอย่าง Ingrid Creppell ศาสนาถูกแยกออกจากสาธารณะ (secularized) ไปตั้งแต่ช่วงปลายของการล่มสลายลงของสิ่งที่เรียกว่า Christendom ในยุโรป ด้วยการผลักของสองทิศทาง
ทิศทางแรก คือการผลักศาสนาให้เข้าไปเป็นประเด็นส่วนบุคคล ศาสนากลายเป็นเรื่องของส่วนบุคคลที่รัฐในฐานะพื้นที่สาธารณะของการอยู่ร่วมกันในสังคม ไม่มีสิทธิเข้าไปยุ่งหรือจัดการ ศาสนาจึงเป็นเรื่องที่ถูกกันออกจากพื้นที่สาธารณะในเชิงของการปกครองและการอยู่ร่วมกันของสังคมไปโดยปริยาย
ทิศทางที่สอง คือการผลักศาสนาออกจากสังคมการเมืองในแบบแรก แต่มีการสถาปนาชุดของการอธิบายการอยู่ร่วมกันแบบใหม่ ซึ่งในแบบที่สองคือการกำเนิดขึ้นของสิ่งที่เรียกว่ารัฐ (state) ในฐานะคำอธิบายและอ้างอิงของการอยู่ร่วมกันชุดใหม่ คำอธิบายมีหลากหลาย แต่แนวคิดที่ดูจะได้รับการยอมรับมากที่สุดในเวลานั้นและยังคงส่งผลจนถึงปัจจุบัน คือแนวคิดของสัญญาประชาคม (Contractarian) ทิศทางนี้สอดคล้องกับแนวทางแรก เมื่อศาสนาอ่อนตัวลงในฐานะคำอธิบายที่มาสู่ทางการเมือง รัฐจึงถูกสถาปนาขึ้นในฐานะนวัตกรรม (innovation) แทนที่ศาสนา และถือเป็นแกนกลางของการอยู่ร่วมกันในสังคม แกนกลางดังกล่าวนี้ไม่ใช่ตั้งขึ้นมาโดยง่าย แต่มีรากฐานสำคัญอยู่สามตัว ได้แก่ ขันติธรรม (อดทนที่จะอยู่ร่วมกับคนที่แตกต่างจากตนเอง) หลักการประชาธิปไตย (อำนาจเป็นของประชาชนในรัฐ) และอัตลักษณ์ร่วมกันของคนในชาติ สามขานี้เป็นตัวสนับสนุนแกนของการดำเนินชีวิตภายใต้รัฐสมัยใหม่ แทนที่กรอบทางศาสนาที่ล่มลงไปจากผลพวงของสงครามหลายครั้งหลายหนในยุโรปจากบทบาทของคริสต์ศาสนานั่นเอง
กรอบการดำเนินชีวิตภายใต้โลกสมัยใหม่เหล่านี้ จึงไม่มีความต้องการและไม่ต้องการพึ่งศาสนา ในทางตรงกันข้าม กรอบการดำเนินชีวิตภายในโลกสมัยใหม่ กลับต้องการความเข้าใจและความอดทนอดกลั้นกับเพื่อนร่วมชาติมากกว่าสิ่งอื่นใด การอยู่ร่วมกันในโลกสมัยใหม่ที่กรอบการอ้างอิงไปพ้นจากศาสนา จึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ และศาสนาก็ไม่ใช่เครื่องมือที่สอนให้คนเราอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขสักเท่าใดนัก เพราะในท้ายที่สุดเมื่อทุกอย่างอยู่ภายใต้วิธีคิดแบบกองทัพในการหาพรรคพวก การฆ่ากันในนามของศาสนานั้นจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไม่เว้นแม้แต่ยุคสมัยปัจจุบัน
จะมีข้อยกเว้นก็เสียแต่ว่า สังคมนั้นยังไม่ใช่สังคมสมัยใหม่ หรือผู้ปกครองเลือกที่จะรักษาศาสนาเอาไว้เหนือประชาชนเท่านั้น
(Photo by Wendy van Zyl from Pexels)