Tuesday, 10 September 2024

รัฐและอินเทอร์เน็ต: ไม่ยุ่งก็ไม่ได้ มากไปก็ไม่เหมาะ

หลายครั้งในที่สาธารณะ เรามักจะเห็นหลายคนแสดงจุดยืนที่ว่า รัฐไม่ควรเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับอินเทอร์เน็ตเลย จุดยืนเช่นนี้แม้จะเข้าใจได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วเป็นจุดยืนที่มีปัญหาอยู่ในตัวมันเองไม่ใช่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมองข้ามเรื่องของการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นบนอินเทอร์เน็ต โดยไม่คำนึงถึงความเป็นจริงทางสังคมที่เกี่ยวข้อง

บทความชิ้นนี้ เสนอจุดยืนว่า รัฐและอินเทอร์เน็ตเกี่ยวพันกันและไม่สามารถทิ้งสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปได้ และจุดยืนที่ว่าอินเทอร์เน็ตเป็นพื้นที่ปลอดรัฐ เป็นจุดยืนที่มีปัญหา อย่างน้อยที่สุดก็จากมุมมองของความเป็นจริง (reality) และสังคมการเมือง และเน้นย้ำว่า แนวคิดที่สุดโต่งทั้งสองข้าง (ทั้งไม่ควบคุมใดๆ และควบคุมอย่างละเอียด) เป็นแนวคิดที่มีปัญหาทั้งคู่ บทความนี้ต้องการเสนอว่า แนวคิดการจัดการอินเทอร์เน็ตของรัฐ สมควรที่จะเกิดขึ้นจากการตกลงกันในสังคมเพื่อหาจุดสมดุลที่พอดีมากกว่า

ในงานเขียนชิ้นนี้ จะมีการใช้และอ้างอิงกรอบทฤษฏีทางสังคมการเมืองที่เกี่ยวข้องจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Robert Nozick, ปรัชญาการเมืองสาย Contractarian, ทฤษฏีของ Manuel Castell ที่ว่าด้วยเรื่องของโครงสร้างการสื่อสารทางอินเทอร์เน็ต และทฤษฏีย่อยๆ อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งมีความเกี่ยวพันในเชิงคำอธิบายของบทความนี้

รัฐและอินเทอร์เน็ต กับความแตกต่างในเชิงโครงสร้าง

ในเชิงโครงสร้าง รัฐและอินเทอร์เน็ตมีความคล้ายคลึงกันในลักษณะบางประการ โดยภาพรวมคือมีโครงสร้างที่เป็นปลายเปิดในเชิงประวัติศาสตร์ (historical open-end คือไม่รู้ว่าจะไปจบที่ไหนในประวัติศาสตร์) และเป็นนวัตกรรมของมนุษย์ (สำหรับ Foucault รัฐเป็นผลผลิตทางความคิดทางการเมืองของยุโรป)

ปัญหาก็คือ ความคล้ายคลึงนี้เป็นสภาพของโครงสร้างที่มีลักษณะแข่งขันกันเอง (competitive) และทำให้จุดแตกต่าง กลับออกมาอย่างชัดเจน และกลายเป็นพื้นฐานความแตกต่างในเชิงโครงสร้าง กล่าวอย่างง่ายที่สุด รัฐ (state) มีสภาพที่มีลักษณะของการรวมศูนย์ และมีการระบุสภาพ (association) ทางการเมืองของคนที่อยู่ในรัฐ ขณะที่อินเทอร์เน็ต มีสภาพในเชิงโครงสร้างแบบกระจาย (distributed) และไม่ได้มีการระบุสภาพที่ชัดเจนว่าจะต้องอยู่กับอินเทอร์เน็ต (ในภาพรวม ไม่นับว่าตนเองอยู่เป็นชุมชนของเว็บไซต์ต่างๆ)

ความแตกต่างดังกล่าวข้างต้น ในเชิงประวัติศาสตร์เป็นผลต่อเนื่องจากการออกแบบโครงสร้างของรัฐกับอินเทอร์เน็ตที่แตกต่างกัน กล่าวอย่างหยาบที่สุด ในสภาพความเป็นจริง รัฐสมัยใหม่ (modern state) เกิดขึ้นเพราะกระบวนการแยกศาสนาออกจากพื้นที่สาธารณะ (secularization) หลังจากที่ศาสนามีอิทธิพลครอบงำเหนือพื้นที่การเมือง สำหรับ Ingrid Creppell รัฐเป็นสิ่งที่เข้ามาทดแทนโครงสร้างของศาสนา (Christendom) ซึ่งล้มหายตายจากไป การเข้ามาแทนที่เช่นนี้แม้จะยืนอยู่บนพื้นฐานของอำนาจอธิปไตยแบบประชาชนนิยม (popular sovereignty) แต่ความเด็ดขาดในการใช้เหตุผล (raison d’etat) ที่จะทำให้สังคมการเมืองเป็นเอกภาพ (unity) ยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็น สภาพของรัฐจึงมีลักษณะรวมศูนย์ในท้ายที่สุด แม้จะมีการกระจายอำนาจไปแล้วก็ตาม

ณะที่อินเทอร์เน็ต กลับเกิดขึ้นมาในฐานะโครงสร้างแบบกระจายตัว ทีมวิศวกรที่ออกแบบอินเทอร์เน็ตอย่าง Vin Cerf ไม่ได้ต้องการเห็นโครงสร้างที่กระจุกตัว เพราะการมีโครงสร้างที่กระจุกตัวย่อมแปลว่าหากเครือข่ายล่มหรือถูกทำลาย สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือเครือข่ายจะไม่สามารถใช้งานได้อย่าง (fault tolerance) ทำให้อินเทอร์เน็ตกลายเป็นสภาพกระจายตัว ผิดกับรัฐที่มีลักษณะของการรวมศูนย์ และสามารถขยายออกไปได้เรื่อยๆ ตราบเท่าที่สภาพจะเอื้อให้โปรโตคอลการสื่อสารอินเทอร์เน็ตทำงานได้

สภาพความแตกต่างในเชิงโครงสร้างนี้ สะท้อนให้เห็นอยู่ในวิธีของการสื่อสารที่แตกต่างกันของรัฐและอินเทอร์เน็ต สำหรับนักวิชาการอย่าง Manuel Castells วิธีที่รัฐสื่อสารกับประชาชนผ่านสื่อแบบเดิม (traditional media) คือวิธีสื่อสารแบบกระจายข่าว (broadcasting) ไปถึงคนหมู่มาก โครงสร้างการสื่อสารลักษณะนี้ทำให้รัฐสามารถควบคุมได้แทบจะทุกจุด และสื่อมีบทบาทในฐานะของการเป็น “ผู้คัดเลือกข้อมูล” (gatekeeper) ที่จะกำหนดประเด็นต่างๆ ได้ ขณะที่ตัวอินเทอร์เน็ตกลับมีสภาพของการสื่อสารระหว่างกันในคนหมู่มาก (self-mass communication) โดยไม่มีจุดศูนย์กลางใดๆ ทำให้การไหลของข้อมูลเป็นไปได้อย่างอิสระ และใครก็สามารถสื่อสารอะไรได้ ไม่มีลักษณะของการตอบโจทย์ทางเดียว หรือไม่ก็ทำให้การควบคุมแทบจะเป็นไปได้ยากจนไม่มีทางทำอะไรได้

จากความแตกต่างสู่ปัญหา กับการแก้ไขปัญหาของรัฐ

ในความเป็นจริงแล้ว อินเทอร์เน็ตแม้จะเป็นช่องทางในการสื่อสารแบบหนึ่ง แต่บริการต่างๆ จำนวนมากกลับอาศัยโครงสร้างของอินเทอร์เน็ตเหล่านี้ในการทำงาน และในภาพรวมเองอินเทอร์เน็ตไม่ได้มีพรมแดนในการสื่อสารที่ชัดเจนเมื่อเทียบกับรัฐ (แม้จะไม่ใช่ทุกกรณี) เช่น เราสามารถเข้าไปดูเว็บ Amazon.com จากไทยและสั่งซื้อสินค้าบางชิ้นที่ไม่ได้ติดข้อกำหนดทางการขนส่งของสหรัฐอเมริกา ให้กลับมายังไทยได้

ปัญหาก็คือ ในกรณีเกิดการพิพาทระหว่างบุคคลหรือธุรกรรมทางอินเทอร์เน็ต เราจะทำอะไรได้บ้าง? สมมติว่านาย A เป็นพลเมืองของไทย อาศัยอยู่ในออสเตรเลีย ทำการสั่งซื้อของบนแพลตฟอร์ม Labada ของสิงคโปร์ ที่ขายโดยนาย B ที่เป็นพลเมืองของจีน แต่อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา แล้วเกิดกรณีนาย B ไม่ยอมส่งมอบของหรือโกง ในกรณีเช่นนี้จะดำเนินการแก้ไขข้อขัดแย้งอย่างไร?

อาจมีคนเสนอว่า ในกรณีแบบนี้ บทบาทของการแก้ไขข้อขัดแย้ง ย่อมไปตกอยู่ที่แพลตฟอร์ม Labada แต่คำถามที่สำคัญก็คือ Labada มีกฎหมายหรือสิ่งใดที่จะบังคับให้นาย B ต้องส่งมอบของหรือคืนเงิน ซ้ำร้ายไปกว่านั้น นาย A และนาย B ต่างไม่ใช่พลเมืองของตน ที่กฎหมายของประเทศที่บริษัทตั้งอยู่จะบังคับใช้ได้ หากให้ Labada แก้ไขข้อขัดแย้งนี้ จะเชื่อได้อย่างไรว่านาย A และนาย B จะยอมรับการแก้ไข? ไม่นับว่ามีผลตามมาในชีวิตจริงด้วยหรือไม่อีกประการหนึ่งต่างหาก

ปัญหาข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า แม้อินเทอร์เน็ตจะเป็นพรมแดนที่ไร้ขีดจำกัดและยากที่จะควบคุม แต่มันไม่ได้แยกตัวเองออกจากสังคมการเมืองของมนุษย์ และการที่เกิดกรณีพิพาทบนโลกอินเทอร์เน็ตเอง ก็ย่อมสร้างความปวดหัวให้กับการจัดการของรัฐอย่างหลักเลี่ยงไม่ได้

Photo by Caio Resende from Pexels

ในเชิงทฤษฏีการเมือง โดยเฉพาะสาย contractarian รัฐ มีหน้าที่ซึ่งต้องให้ความปลอดภัยและดูแลระเบียบของประชาชนเพื่อให้มนุษย์ภายใต้ข้อตกลง (contract) สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีเสรีภาพและปราศจากภัยที่จะถึงแก่ชีวิต ทั้งภายในรัฐและระหว่างรัฐ กรณีที่รัฐไม่สามารทำสิ่งเหล่านี้ได้ ย่อมแปลว่ารัฐไม่สามารถรักษาสัญญาอันเป็นพื้นฐานที่มนุษย์ได้ตกลงกันไว้ เมื่อเป็นเช่นนี้รัฐก็ไม่มีความชอบธรรมเพียงพอที่จะดำรงคงอยู่ต่อไป การเข้ามาของอินเทอร์เน็ต ทำให้บทบาทในข้อนี้ของรัฐถูกท้าทาย เพราะรัฐไม่รู้วิธีการหรือไม่มีแนวทางที่จะจัดการกับอินเทอร์เน็ตและประชาชนของตนเองอย่างไรในกรณีพิพาทนั่นเอง

แม้จะมีข้อถกเถียงได้ว่า ก็ให้บรรษัทในอินเทอร์เน็ตเป็นผู้จัดการกับความขัดแย้ง แต่นอกจากปัญหาที่ได้ระบุในตัวอย่าง นาย A-Labrada-นาย B นั้น หากก่อให้เกิดสภาพดังกล่าวจริง บรรษัทที่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มเองก็จะมีขนาดใหญ่และสำคัญกว่ารัฐ เราสามารถเห็นภาพนี้ได้ผ่านทฤษฏีของ Nozick ที่มองว่าบริษัทแต่ละเจ้า จะต้องมีการรับประกันให้กับสมาชิก ซึ่งไปๆ มาๆ ในท้ายที่สุด ก็เกิดสภาพของรัฐอยู่ดี แม้จะเป็นรัฐในความหมายที่น้อยที่สุด (minimal state) ว่าง่ายๆ คือเจ้าของแพลตฟอร์มเหล่านี้ก็ทำตัวเป็นเสมือนกับรัฐนั่นเอง บทบาทของรัฐในฐานะตัวกลางในการแก้ไขจึงถูกท้าทายและตั้งคำถามหนักข้อขึ้น

สำคัญกว่านั้น อินเทอร์เน็ตเองก็มีปัญหาในประเด็นเรื่อง “ความจริงแท้” (authencity) ของข้อมูล เพราะสภาพของอินเทอร์เน็ตโดยเนื้อแท้ เป็นเพียงช่องทางของการส่งผ่านข้อมูล แต่โครงสร้างอินเทอร์เน็ตไม่ได้ยืนยันความถูกต้องของเนื้อความที่ส่ง (อาจจะยืนยันว่าข้อมูลที่ส่งให้ครบหรือสมบูรณ์ แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าข้อมูลที่ส่งให้ถูกหรือผิด) ตัวอย่างเช่น อินเทอร์เน็ตไม่มีความสามารถในการตรวจสอบว่า ข้อมูลที่ส่งผ่าน LINE อย่างเช่น “น้ำผึ้งรักษาโรคอ้วน” เป็นสิ่งที่ถูกต้อง หน้าที่อย่างเดียวของอินเทอร์เน็ตและโปรโตคอลที่เกี่ยวข้องโดยรวม คือการยืนยันว่าข้อมูลชุดนั้นได้ส่งไปถึงปลายทางผู้รับแล้ว

ความจริงแท้ของข้อมูลกลายเป็นประเด็นสำคัญ เพราะในกรณีที่เปิดออกมาเป็น “ข่าวลือ” ที่ย่อมมีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ นั่นก็แปลว่าตัวรัฐเองย่อมตกอยู่ภายใต้อันตรายอย่างใหญ่หลวงด้วยเช่นกัน เพราะข่าวลือหรือความเท็จเหล่านี้ ย่อมทำให้รัฐอยู่ภายใต้ความไม่แน่นอนด้วย และรัฐย่อมไม่เปิดทางให้เกิดความผิดพลาดเหล่านี้ขึ้นได้ง่ายๆ

ปัญหาทั้งหมดเหล่านี้ จึงถูกขมวดปม กลายเป็นความเข้ากันไม่ได้ และเป็นความขัดแย้งในเชิงโครงสร้างระหว่างรัฐและอินเทอร์เน็ตในภาพรวม ซึ่งนำมาสู่ข้อถกเถียงที่ว่า ตกลงแล้วเราควรจะต้องจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและอินเทอร์เน็ตอย่างไรกันแน่

การปิดกั้นมีอยู่ทุกที่ การควบคุมมีอยู่ทุกแห่ง และเป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้

สภาพความขัดแย้งที่ได้ยกตัวอย่างไปก่อนหน้า ย่อมทำให้หลายรัฐเองตัดสินใจที่จะเข้ามาควบคุมอินเทอร์เน็ต และปรากฎการณ์เหล่านี้ไม่ได้เกิดเฉพาะเจาะจงที่ใดที่หนึ่งในโลกอย่างที่หลายคนคิด แต่ปรากฎการณ์เหล่านี้กับเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางมาก อาจจะเรียกได้ว่าเป็นสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นทุกแห่งและไม่อาจปฏิเสธความเป็นจริงได้

ในเชิงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เวทีอย่าง Internet Governance Forum (IGF) หรือแปลไทยในที่นี้ว่า “การประชุมว่าด้วยการจัดการปกครองอินเทอร์เน็ต” ถือเป็นตัวอย่างที่สำคัญในการวางกรอบการควบคุมอินเทอร์เน็ต โดยมีบทบาทของรัฐชาติในการกำหนดแนวทางหรือนโยบายที่ชัดเจน เข้ามาอยู่อย่างเป็นทางการ (ยังไม่ต้องนับว่าองค์การอย่างสหประชาชาติ ก็เป็นผลลัพธ์จากการรวมตัวกันของรัฐต่างๆ หลายประเทศทั่วโลก)

Photo by Pixabay from Pexels

ส่วนในแต่ละประเทศ แนวทางในการควบคุมและปิดกั้นมีความแตกต่างกันไป สำหรับในสหรัฐอเมริกา เนื้อหาที่เกี่ยวกับเพศที่มีอายุต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด (child pornography) ถือเป็นสิ่งที่ต้องห้าม พอๆ กับเรื่องของความมั่นคงและการก่อการร้าย ก็เป็นประเด็นที่ทำให้รัฐมีความชอบธรรมในการเข้าควบคุมและดูแลอินเทอร์เน็ต วิธีการที่รัฐมักจะใช้คือการสร้างวาทกรรมเพื่อล้อมกรอบพื้นที่ของอินเทอร์เน็ตให้ชัดเจน (borderlization) ก่อนที่จะเข้าไปจัดการกับปัญหาต่างๆ ในพื้นที่นั้นๆ

ดังนั้นแล้วการปิดกั้นและควบคุมอินเทอร์เน็ตนั้น ต่างก็มีอยู่ทุกที่ และเป็นความจริงที่ยากจะปฏิเสธ เพราะบทบาทของรัฐ ที่จะต้องมีการควบคุมเพื่อให้เกิดความสงบสุขของคนที่อยู่ในสังคม เป็นบทบาทที่ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้พ้น และถือเป็นความรับผิดชอบที่เป็นปฐม (foundation) ของรัฐ

อย่างไรก็ตาม ในหลายๆ รัฐ กระบวนการในการปิดกั้นข้อมูลและควบคุมอินเทอร์เน็ต ก็ไปไกลเกินกว่าปกติ ตัวอย่างเช่นในจีนที่มีการปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์และข้อมูลที่มีความเกี่ยวพันกับสังคมการเมือง จนอยู่ในระดับที่เรียกว่า “ผิดปกติ” ไปด้วยเช่นกัน เช่น การไม่ให้ค้นหาคำบางอย่าง (เช่น กรณีที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน) ก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างของการใช้อำนาจในการควบคุมและปิดกั้นที่มากกว่าปกติ

แล้วจะแก้ไขปัญหาอย่างไร?

คำถามที่อาจจะเกิดขึ้นก็คือ แล้วเราจะรักษาจุดสมดุลระหว่างบทบาทของรัฐกับอินเทอร์เน็ตได้อย่างไร?

คำตอบที่อาจจะพอเป็นไปได้ คือ ต้องขึ้นอยู่กับรัฐและประชาชนจะหาข้อตกลงร่วมกัน แน่นอนว่าเมื่อกล่าวเช่นนี้ แนวทางในการหาคำตอบ ปทัสถาน หรือบรรทัดฐานอันเป็นสากล ย่อมจะไม่มีอยู่ แต่เป็นเรื่องของการตกลงกันระหว่างรัฐกับรัฐ และรัฐกับประชาชน ในการที่จะหาหนทางในการอยู่ร่วมกันได้ มากกว่าที่จะมีบทบาทอย่างเด็ดขาดแบบใดแบบหนึ่ง

สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและอินเทอร์เน็ตในมิติภายในประเทศ เมื่อรัฐเกิดจากเจตจำนงของประชาชน และรัฐเองตั้งอยู่บนหลักการของ popular sovereignty สิ่งที่เกิดขึ้นคือรัฐจะต้องมีข้อตกลงที่ชัดเจนกับประชาชน เรื่องเหล่านี้มีความแตกต่างกันไปในบริบทของสังคมที่แตกต่างกันไป และเกณฑ์ปฏิบัติของรัฐใดรัฐหนึ่ง ย่อมไม่สามารถเอามาเทียบกับความสัมพันธ์ของอีกรัฐได้โดยง่ายนัก

Picture by StockSnap from Pixabay

ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างรัฐเอง กลไกในการปกครองหรือควบคุมอินเทอร์เน็ตก็ควรที่จะต้องมีแนวทางในการดำเนินการที่เหมาะสม เพื่อให้ในกรณีที่มีความขัดแย้งข้ามพรมแดน สามารถกระทำได้โดยง่ายมากขึ้น

แต่แนวทางเหล่านี้ที่เสนอไป ล้วนแล้วแต่มีความท้าทายในการดำเนินการจริงทั้งหมด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาวะที่เกี่ยวข้องเหล่านี้ ย่อมเปลี่ยนแปลงไปได้ด้วยความรวดเร็วมาก การจัดการปกครองอินเทอร์เน็ต จึงเป็นสิ่งที่มีความยากลำบากอย่างยิ่งยวด

อย่างไรก็ตาม คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า รัฐ ในฐานะองค์กรทางสังคมการเมืองแบบหนึ่ง ย่อมไม่สามารถสลัดทิ้งออกไปจากอินเทอร์เน็ตได้ ตราบใดที่ผู้ใช้ยังคงมีตัวตนจริง และยังคงมีสถานะอยู่ในสังคมการเมืองแห่งใดแห่งหนึ่งเสมอ การตัดอย่างใดอย่างหนึ่งออกไป ย่อมเปิดปัญหาให้กับสิ่งอื่นๆ ที่จะตามมาได้ในอนาคตอย่างไม่ยาก ในด้านหนึ่ง การไม่มีรัฐ ก็ย่อมทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตได้เต็มที่อย่างปลอดภัย แม้จะมีอินเทอร์เน็ต ในอีกด้านหนึ่ง การควบคุมอินเทอร์เน็ตอย่างเต็มที่ ย่อมทำให้ความสร้างสรรค์และการใช้เสรีภาพไม่เกิดขึ้นอย่างเต็มที่ด้วย

สิ่งที่ควรเป็นข้อสนใจและต้องทำ คือการหาทางออกร่วมกันทั้งจากรัฐและอินเทอร์เน็ต เพื่อที่จะได้อยู่ร่วมกัน และในท้ายที่สุด ก็เป็นมนุษย์ที่จะได้รับประโยชน์สูงสุด มากกว่ายอมให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอำนาจเหนืออีกฝ่าย และนำมาสู่ความวุ่นวายของปัญหาที่อาจจะต้องมาแก้กันจนไม่จบไม่สิ้น

Main Photo by Catarina Sousa from Pexels

เรื่องแนะนำ

ใช้ GCP f1-micro รันเว็บไซต์ส่วนตัวฟรีๆ – ตอนที่ 4 เปิด swap + ล็อค IP Address

หลังจากเราเปิดบัญชี GCP และ เริ่มรัน Virtual Machine บน Compute Engine ตามขั้นตอนในตอนที่แล้ว มาในตอนนี้เราจะเริ่มต้นเปิด swap และล็อค IP Address กันครับ

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here