Tuesday, 19 March 2024

รีวิวร้าน Baan Phraya (บ้านพระยา) Mandarin Oriental Bangkok

“สวัสดีค่ะ/ครับ คุณภัทรนันท์ ยินดีต้อนรับสู่บ้านพระยาครับ/ค่ะ” เสียงทักทายนี้เกิดขึ้น โดยที่ผมกำลังเดินเลียบกำลังจะขึ้นไปยังชานร้าน Baan Phraya (บ้านพระยา) ร้านอาหารใหม่ล่าสุดของโรงแรม Mandarin Oriental Bangkok ที่นำเอาบ้านของพระยามไหสวรรย์ (กอ สมบัติศิริ) ซึ่งตั้งอยู่ที่เช่าของโรงแรมในปัจจุบัน อายุกว่า 100 ปีมาทำเป็นร้านอาหารใหม่ล่าสุด

หลายท่านอาจจะบอกว่าเป็นปกติ แต่จริงๆ แล้วต้องบอกว่าทุกคนไม่เคยรู้จักผม และไม่เคยจำผมได้แน่นอนครับ เพราะผมกินอาหารที่นี่ไม่ถี่ขนาดนั้น การที่ทุกท่านรู้ว่าผมเป็นใคร (มากถึง 5 คน) นับว่าเป็นเรื่อง “เกินคาด” ไปมากๆ

หมายเหตุ รีวิวนี้เคยโพสต์ไว้บน Facebook ส่วนตัวผมแล้ว แต่ขอมาลงไว้ตรงนี้อีกครั้งครับ

พนักงานบริการผมมีสองท่าน ท่านแรกคือคุณเกษม ที่ย้ายมาจาก Lord Jim’s และ คุณภัทราฤทัย ซึ่งอยู่ที่ศาลาริมน้ำแต่แรก แต่จริงๆ ในการบริการจริงจะมีทั้งคุณประภา คุณบูม (ผมจำชื่อจริงไม่ได้ครับ ต้องขออภัยจริงๆ) คุณมาณพ และคุณอุทิศ ซึ่งท่านสุดท้ายนี้ย้ายมาจาก Le Normandie มาเป็นผู้จัดการร้านที่นี่

หลังจากติดสตั้นท์เพราะการทักทายไปประมาณ 15 วินาที คุณภัทราฤทัยและคุณเกษม เชิญผมไปนั่งที่บริเวณชานบ้าน ซึ่งก็คือจุดเริ่มต้นของมื้อในวันนี้ วันที่อากาศในกรุงเทพมหานครช่างโหดร้าย แค่นั่งเฉยๆ ก็เหงื่อไหลเหมือนน้ำตกแล้ว

และผมก็เพิ่งทราบว่าจะเป็นแขกหนึ่งเดียวสำหรับในค่ำคืนนี้ที่จองมา (เจ้าหน้าที่แจ้งว่าอาจจะมีมาเพิ่ม เพราะเปิดให้ลูกค้า walk-in อยู่เพียง 1-2 โต๊ะในช่วงแรก ซึ่งตอนท้ายก็มีจริงๆ ครับ)


ก่อนที่จะเข้าถึงอาหาร ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับทั้งสองท่าน ซึ่งก็ทราบความตั้งใจของทางโรงแรมที่จะผลักดันให้ห้องอาหารนี้ มีศักดิ์ศรีและศักยภาพที่จะเป็น Fine Dining อาหารไทยของโรงแรม (เป้าหมายคือ The Next Normandie แต่เป็นอาหารไทย) นับว่าเป็นเป้าหมายที่ท้าทายและอหังการอย่างมาก เพราะการแข่งขันในกลุ่ม Fine Dining อาหารไทยในปัจจุบันนั้นเรียกว่า “เลือดสาด” อย่างมาก

โรงแรมเริ่มจากการสร้างเป้าหมาย และมอบหมายให้เชฟป้อม พัชรา พิระภาค ที่เข้าทำงานกับทางโรงแรมตั้งแต่ปี 2019 (และเป็นผู้ทำให้เสน่ห์จันทน์ – ห้องอาหารไทยของสยามสินธร – ติดอันดับได้ 1 ดาวมิชลิน ตั้งแต่ปีแรก) เป็นเชฟประจำห้องอาหาร ส่วนการบริการมอบหมายให้คุณอุทิศจาก Le Normandie เป็นผู้จัดการร้าน

Mandarin Oriental, Bangkok ฝั่งธนบุรี

จากบุคคลและเป้าหมาย โรงแรมตัดสินใจย้าย OHAP (โรงเรียนสอนทำอาหารและโรงแรมของโอเรียนเต็ล) ที่ตั้งอยู่ ณ บ้านพระยาเดิมออกไป แล้วนำที่ว่าง เปิดเป็นพื้นที่ร้านอาหารใหม่แห่งนี้ และให้ชื่อ “บ้านพระยา” นั่นเอง

บ้านพระยานี้ สร้างขึ้นกว่า 100 ปีแล้ว ซึ่งเป็นของพระยามไหสวรรย์ (กอ สมบัติศิริ) ส่วนที่มาอยู่ตรงนี้เพราะทางโรงแรมเช่าที่มาด้วยนั่นเอง (ปีนี้เช่ามาครบ 40 ปีแล้ว)

หลังจากได้สถานที่และคนแล้ว (ซึ่งก็สมบูรณ์แบบมากแล้ว) คราวนี้จึงเหลือแค่อาหาร ซึ่งเชฟป้อม เลือกที่จะนำเอาอาหารไทยที่คุ้นเคย มาตีความใหม่ รวมถึงสร้างความซับซ้อนใหม่ๆ เพิ่มเติม

ชานบ้านพระยา ที่ตั้งของร้าน Baan Phraya

จากเป้าหมายที่จะสร้าง Thai Fine Dining ในฉบับที่ต่างจากห้องอาหารอย่าง Terrace หรือ ศาลาริมน้ำ นำมาสู่ห้องอาหารใหม่ ที่เพิ่งเปิดได้ประมาณอาทิตย์เศษ สามารถรองรับได้สูงสุด 20 คน และปิดในวันจันทร์และอังคาร พร้อมกับราคาต่อท่านที่ 3,500++ บาท (ไม่รวมเครื่องดื่ม)

นับว่า Mandarin Oriental มีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่อย่างมาก คำถามที่สำคัญคือ แล้วในสภาพจริง เป็นอย่างไรบ้าง?

เมนูอาหาร

ตัดกลับมาที่ภาพที่ผมนั่งบนชานเรือนและคุณเกษมกับคุณภัทราฤทัยยืนคุยกับผมอยู่ ขณะนั้นเป็นเวลา 17:10 น. โดยประมาณ “ชาหมักคอมบูฉะมะตูม” ถูกเสิร์ฟมาพร้อมกับผ้าเย็น ผมซึ่งแอบอ่านรีวิวของรุ่นพี่มาแล้ว จึงยังไม่ยอมดื่ม จนกระทั่ง “ม้าฮ่อ” ถูกเสิร์ฟออกมาด้วย จึงเริ่มดื่มนั่นเอง

จุดนี้บริกรก็สงสัยว่าทำไมผมเลือกมาที่นี่ ผมเลยเฉลยว่าจริงๆ แอบตามมาจากรีวิวของรุ่นพี่ท่านหนึ่งนั่นเอง (5555) เจ้าหน้าที่หัวเราะ แล้วจึงบอกว่าระยะแรกยังไม่อยากโปรโมทให้เอิกเกริกมากครับ เลยแปลกใจว่ารู้ได้อย่างไร

ชาคอมบูชะมะตูม

สำหรับ “ชาคอมบูชะมะตูม” นี้ มีส่วนผสมของน้ำผึ้งลูกหม่อนออร์แกร์นิคจากฟาร์มของโรงแรมที่อยู่ในภาคเหนือ แล้วก็อัดก๊าซมาเบาๆ หวานแบบเบาที่สุด มีความเป็นมะตูมยืนอยู่ด้านหลังเบาๆ เมื่อทานกับ “ม้าฮ่อ” ที่เชฟแปลงร่างสัปปะรด กลายเป็นน้ำตาลกรอบแบบลูกกวาด (candied) และไส้ที่ใส่ถั่วกับมะขามที่รสค่อนข้างชัดแต่กลมๆ ก่อนจะประดับด้วยทองคำเปลว ก็ทำให้เริ่มต้นมื้อมีเรื่องตื่นเต้นโดนทันที เพราะผมเลือกจะอมม้าฮ่อไว้ประมาณหนึ่งจนน้ำตาลละลายออกมา จึงเคี้ยวแล้วก็ดื่มคอมบูชะตาม

ม้าฮ่อ

ผลที่ได้คือความกลมกล่อมสุดขีด และรสหวานของม้าฮ่อก็ไม่ได้หวานเด่นโดดเด้ง แต่เลือกจะมาโทนกลมมากกว่า ผมชอบมากครับ แต่แนะนำให้กินคู่กันจะสนุกมากครับ

ทั้งนี้ เมื่อคุณเกษมเห็นผมดื่มเสร็จเร็ว จึงบอกว่าเดี๋ยวจะขออภินันทนาการคอมบูชะอีกแก้วให้ ผมเลยไม่ปฎิเสธ (เพราะอารามว่าร้อนแล้วก็หิวน้ำ) ซึ่งก็ออกมาอย่างรวดเร็ว นับว่าสดชื่นอย่างมากครับ


หมดชุดนี้ ผมจึงตัดสินใจเดินเข้าห้องอาหาร (พร้อมเสื้อที่ค่อนข้างเปียกใช้ได้ เพราะอากาศนั้นร้อนจัด ไม่มีลม) ก่อนที่จะถูกขอให้นั่งตรงโซฟา แล้วสิ่งที่ผมไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น เพราะเชฟป้อมออกมาทักทายสวัสดีด้วยตนเอง ก่อนจะแนะนำและเริ่มทำการจัดจาน (final assembly & touch) ขั้นสุดท้ายสำหรับจานแรกคือ “ขนมดอกจอกไข่ปู” ด้วยตนเอง ซึ่งทุกท่านก็เชื้อเชิญให้ผมยืนหน้าครัว ดูการทำอาหาร และฟังเชฟอธิบายอย่างใกล้ชิด ซึ่งผมก็ไม่ปฎิเสธ (เพราะชอบทำอาหารอยู่แล้วด้วย)

ด้านในร้าน

ปกติแล้ว ขนมดอกจอกเป็นของหวาน แต่เชฟป้อมเลือกจะเล่นกับขนม โดยทำออกมาเป็นของคาว ด้วยการผสมแป้งกับน้ำแช่กุ้งแห้ง จากนั้นก็ใส่มูสไข่ปูและโรยด้วยไข่ปูแห้ง ก่อนจะแต้มเจลและขูดผงส้มซ่าใส่

เชฟป้อม พัชรา พิระภาค

ขนมดอกจอกนี้ ผมให้นิยามที่สุดคือ “อร่อยถึงตาย” และคนกินก็น่าจะ “เพ้อถึง” ไปได้อีกอย่างน้อยก็หลายเดือน แป้งที่กรอบเฉียบ รสชาติของไข่ปูที่ตัดกับส้มซ่าซึ่งมีความเปรี้ยวแซมฝาด เป็นอะไรที่ไร้ที่ติอย่างถึงที่สุด – จานนี้คือถ้าขอเพิ่มได้ ผมคงขอเพิ่ม และถ้าถามว่าหากร้านทำออกมาขายต่างหาก ผมก็ยินดีจะซื้อซ้ำแล้วซ้ำอีก แม้จะต้องไปกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินเพื่อให้ได้ซื้อและกินซ้ำๆ อย่างนั้น

ขนมดอกจอกไข่ปู

ส่วนการเสิร์ฟ เจ้าหน้าที่ (คราวนี้เป็นคุณประภาและคุณบูม) แนะนำว่าให้นั่งบนโซฟาแล้วทาน แต่ผมก็เรียนเจ้าหน้าที่ทุกท่านตามตรงว่า อยากได้ภาพที่สวยงาม (ไม่แพ้รสชาติอาหาร) จึงขออนุญาตนั่งโต๊ะลงทานให้เรียบร้อย ซึ่งที่นั่งผมก็อยู่ในจุดที่ผมคิดไม่ถึง เพราะตอนแรกนึกว่าจะจัดให้นั่งในมุมด้านใน แต่ที่นั่งกลายเป็นโต๊ะแรกสุด โดยผมหันไปทางครัว และก็คือมุมที่ผมมองเห็นครัวได้ดีที่สุด ซึ่งก็เป็นที่ซึ่งผมชอบที่สุดเช่นกันครับ


หมดจานนี้ เจ้าหน้าที่ (คุณบูม) เดินเข้ามาถามว่าต้องการน้ำเป็นอะไร ผมซึ่งลังเลอยู่ 5 วินาที จึงตอบไปว่าอยากได้ Sparkling Water ซี่งก็คือ แซนเพเลกริโน ราคา 350++ บาท (โดยขอข้ามไวน์และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหมดไป) ซึ่งไม่นานก็มาถึงโต๊ะ พร้อมกับถามว่าอยากใส่ Lime หรือ Lemon นับว่าพร้อมมากโดยที่ผมไม่ต้องเอ่ยปากถามเลยว่า มีหรือไม่ พร้อมกันนั้นที่ครัวคงสังเกตว่าผมกินเร็วกว่าคนปกติมากอยู่ เลยมาถามว่าอยากเร่งหรือไม่ ผมเลยตอบไปอย่างทันทีว่า ปล่อยให้เวลาวิ่งไปเรื่อยๆ ครับ ไม่รีบเลย

ระหว่างนั้น เชฟก็ลงมือทำจานถัดไป นั่นก็คือ “ยำถั่วพูหอยเชลล์” ที่ร้านเลือกบรรจงเสิร์ฟมาด้วยหอยเชลล์ที่ตัวโตแต่ฝานมาบางเฉียบจำนวน 3 ชิ้น พร้อมกับไข่นกกระทาที่เอาไปบุก่อนนำไปดองในน้ำกระเจี๊ยบ (คล้ายไข่น้ำชาของญี่ปุ่น) ให้เหมือนหินอ่อน ด้านในออกมาเป็นแบบยางมะตูม ตัวยำปรุงโดยใช้น้ำพริกเผาที่เชฟเลือกทำเองและน้ำปลา 100 ปีจากสมุทรสาคร ที่เชฟเล่าให้ฟังว่า ดั้นด้นไปหาถึงที่ แล้วขอให้ใช้กรรมวิธีแบบโบราณในการสกัด ผลที่ได้คือน้ำปลาที่มีกลิ่นเป็นเอกลักษณ์และชัดเจน สีสันสวยงาม แต่ผลลัพธ์ (yield) ที่ได้ก็น้อยมากๆ โดยยอมรับกับผมตามตรงว่าน้ำปลานี้ในหน้าฝนได้มาน้อยมาก ส่วนในหน้าร้อนและหน้าหนาวจะได้มาเยอะกว่าครับ

ยำถั่วพูหอยเชลล์

ทุกอย่างสำหรับจาน “ยำถั่วพูหอยเชลล์” เมื่อคลุกเคล้ากันให้เข้าที่ ก็ต้องตอบว่าสมบูรณ์แบบทุกมิติครับ ไม่ว่าจะมะพร้าวคั่วหรือหอมเจียวที่ปรุง ไปจนถึงรสชาติที่ผสมกันทั้งเปรี้ยว หวาน มัน และเผ็ด ทุกอย่างเข้าสู่ความสมบูรณ์ครับ


หมดจานนี้ ก็ต่อกันที่ “แกงร้อน” ครับ (แกงร้อนในสำนวน “ข้าวแดงแกงร้อน” นั่นแหละครับ) ซึ่งคราวนี้มาในรูปแบบของซุป ซึ่งปกติแล้วตามสูตรจะต้องใส่วุ้นเส้นลงไป แต่เชฟป้อมเลือกจะตีความใหม่หมด ด้วยการใช้เนื้อปลาหมึกมาเป็นเส้น ส่วนไข่ปลาหมึกก็นำไปรมควัน และใช้พริกไทยสามแบบ (โดยเฉพาะพริกไทยชมพูที่ให้ความหวาน) เข้ามาสอดแทรก

การประกอบขั้นสุดท้ายของ “แกงร้อน”

ผมเข้าไปดูวิธีการอย่างใกล้ชิด ก่อนที่จะมานั่งที่โต๊ะเพื่อรอเสิร์ฟ สิ่งหนึ่งที่เชฟอธิบายคือพยายามจะใช้ของในประเทศไทยเกือบทั้งหมด แต่ไม่ได้จริงๆ เพราะน้ำในธรรมชาติของไทยบางอย่างมีปัญหา (เช่น สารตกค้าง) ซึ่งก็เข้าใจเชฟที่อาจจะต้องจำใจเลือกวัตถุดิบจากที่อื่นๆ ครับ

การเสิร์ฟก็จะทำด้วยการวางปลาหมึก ไข่หมึก จากนั้นจึงรินน้ำแกงที่ร้อนจนถึงจุดเดือดลงไปในจาน จานนี้ปลาหมึกสดมาก เด้งกรุบสู้ฟัน ไข่ปลาหมึกก็มีความหอมอร่อย ส่วนซุปนั้นทำมาอร่อยมากๆ ด้วยรสชาติที่กลมกล่อมและมีความเผ็ดร้อนที่ปลายลิ้น เรียกว่าอร่อยในระดับมากในระดับที่ผมยอมเสียทรง ด้วยการเอียงจานและตักน้ำซุปไปจนเกือบหมด

แกงร้อน

ข้อวิจารณ์ที่มีเล็กๆ คือ หากไม่ใช่คนที่กินเค็มเท่าไหร่ อาจจะพบว่าจานนี้เค็มไปนิด ซึ่งถ้าเป็นวิธีโบราณก็แก้ปัญหาง่ายๆ ครับ – วางข้าวเสิร์ฟเล็กๆ ไว้คู่กัน หรืออาจจะเปิดไว้เป็นตัวเลือกครับว่าอาจจะขอข้าวมาคำเล็กๆ ไว้ตัดเค็มครับ (แต่คำวิจารณ์นี้มาจากคนที่ยอมเสียทรงตักซุปจากจานเสิร์ฟจนเกือบหมดนะครับ ดังนั้นก็อาจจะไม่จำเป็นฮะ 5555555555)


ระหว่างที่ผมกำลังดื่มด่ำกับแกงร้อน ด้วยที่นั่งผมเห็นในครัว จึงเห็นการกำลังจัดจานต่อไป นั่นก็คือ “หลามปลาบู่และแจ่วมะเขือเผา” ซึ่งในชีวิตนี้ผมไม่เคยกินปลาบู่มาเลยครับ (แม้จะรู้จักเรื่องปลาบู่ทองมาบ้าง) ทำให้จานนี้ผมจะตื่นเต้นเป็นพิเศษครับ

หลามปลาบู่และแจ่วมะเขือเผา

สำหรับจานนี้ กระบวนการทำเริ่มจากการแยกปลาออกเป็นสองส่วน ด้านบนเป็นเนื้อปลาแบบที่ดึงก้างออกจนเกลี้ยงแล้ว ส่วนด้านล่างจะเป็นส่วนที่เนื้อปลาผสมกับเครื่องเทศต่างๆ ก่อนที่ร้านจะนำไปนึ่งบางส่วนก่อนในขั้นแรก และนำไปทำให้สุกด้วยการเผาในกระบอกไม้ไผ่ แล้วเสิร์ฟพร้อมกับแจ่วมะเขือที่นำมะเขือไปเผา และผสมกับผักที่มีกลิ่นต่างๆ

จานนี้ทำปลาออกมาได้สมบูรณ์แบบได้ไร้ที่ติ ปลาไม่มีกลิ่นคาวใดๆ ความสุกอยู่ในระดับสมบูรณ์แบบ เมื่อกินกับแจ่วมะเขือเผา (ที่ขอเพิ่มได้ตามคำแนะนำของคุณประภา และผมต้องขอเพิ่มเพราะอร่อยมาก) สองอย่างนี้รวมกันคือความสมบูรณ์แบบที่ผมไม่อาจหาคำอธิบายใดๆ ได้อีกครับ เป็นอีกจานที่ชอบติดลิ้นมากจริงๆ ครับ

หลามปลาบู่และแจ่วมะเขือเผา

อ้อ ลืมเล่า ระหว่างกำลังจะขึ้นจานนี้ คุณอุทิศ ก็เข้ามาทักทาย พร้อมกับบอกว่าขาดเหลืออะไรให้บอกได้เลย ผมจึงขอบคุณ และฝากคำระลึกถึงจากรุ่นพี่ท่านหนึ่งที่มากินก่อนแล้วไปครับ (ระหว่างรออาหารแต่ละมื้อ ผมเลยตอบข้อความทางแชทไปบ้างครับ)


หมดจานนี้แล้ว ไม่นานนักผมก็ขึ้นจานต่อไปด้วยจานล้างปากที่เป็น “ยำผลไม้” ซึ่งมาในขนาดจิ๋ว ประกอบไปด้วยชมพู่ สัปปะรดภูเก็ต และส้มโอนครชัยศรี อย่างละ 3 ชิ้นเล็กๆ เป็นทรงลูกเต๋าจิ๋วๆ พร้อมกับผงกุ้งแห้งครับ ส่วนน้ำยำก็เป็นน้ำยำที่มีทั้งมะกรูด มะนาว ส้มซ่า พร้อมปรุงรสด้วยน้ำปลา 100 ปีครับ

ยำผลไม้

จานนี้เรียกว่ารสเข้มข้นมาก (หน้าที่ของ Palate Cleanser) ที่ทิ้งรสเอาไว้พอสมควรในปาก มีทั้งเค็ม หวาน และเปรี้ยว ที่ชัดเจนมาก จนผมมีอาการเสียทรงเล็กน้อย คือ สำลักเพราะรสไปค้างในคอ ต้องรอพักหนึ่งให้หายไปครับ (ซึ่งก็หายไป) นับว่าเป็นหนึ่งในจานล้างปากที่เข้มข้นมากครับ ส่วนถามว่าอร่อยไหม นอกจากผลไม้หมดแล้ว ก็แทบอยากจะวิดน้ำยำใส่ปากครับ 55555


สักพักหนึ่ง จานที่ผมคาดหวัง (หรือจะเรียกว่าหมายตาไว้แต่แรกก็ไม่ผิด) นั่นก็คือ “กุ้งแม้น้ำย่างซอสน้ำพริกมะขามและหลนมันกุ้ง” ก็ออกมาวางไว้ ซึ่งใครที่เห็นจากภาพอาจจะดูไม่อลังการ ผมเลยอดไม่ได้ที่จะต้องเสียมารยาทอย่างมากๆ ด้วยการหยิบไอโฟนขึ้นมาถือเทียบแล้วถ่ายให้ดูว่า ไอโฟนผมนั้นขนาดเล็กไปเลยแบบที่ผมเองก็ตื่นตะลึงครับ

กุ้งแม้น้ำย่างซอสน้ำพริกมะขามและหลนมันกุ้ง

จานนี้ทางร้านบ้านพระยา นำเอากุ้งแม่น้ำจากลุ่มแม่น้ำตาปี จังหวัดสุราษฎร์ธานี มาค่อยๆ ย่างอย่างสมบูรณ์แบบ พร้อมกับทำเครื่องคลุกเอาไว้สองแบบ นั่นก็คือ ซอสน้ำพริกมะขาม ที่ทำความเป็นมะขามได้อย่างเข้มข้น ส่วนอีกด้านเป็นหลนมันกุ้งที่ได้ทั้งความมันจากตัวมันกุ้งและกะทิที่ใส่มาซึ่งแตกมันอย่างดี ก่อนตกแต่งด้วยใบส้มกบครับ

กุ้งแม้น้ำย่างซอสน้ำพริกมะขามและหลนมันกุ้ง เทียบกับ iPhone SE 2022

รสชาติของจานนี้ก็ต้องบอกว่า กุ้งทำมาสมบูรณ์แบบมากๆ (ของผมอาจจะเอาออกยากสักนิด แต่ก็ไม่ถึงกับว่ายากมาก) สุกพอดี ยังมีความกรอบและความแน่นของตัวกุ้งอย่างครบถ้วน ส่วนหลนออกมากลมกล่อมและมันดีมาก ส่วนตัวซอสมะขามนั้นออกมาได้สมบูรณ์แบบ เปรี้ยวและหวานอย่างสมบูรณ์ จะกินแยกกันหรือผสมก็ดีทั้งคู่


ในที่สุดเราก็เดินทางเข้าสู่จานหลัก และเป็นจานสุดท้าย นั่นก็คือ “แกงพะแนงเนื้อวากิวยอดมะพร้าวอ่อน” ที่เสิร์ฟมาพร้อมกับ “ข้าวกล้องงอก” คู่กัน จานนี้เสิร์ฟขึ้นโต๊ะด้วยความร้อนที่เหมาะสม มาด้วยเนื้อวากิวสองชิ้นที่ทำมาแบบ Medium-rare แซมด้วยมะพร้าวอ่อน จานนี้บริกรจะรินน้ำซอสพะแนงลงไป พร้อมกับคดข้าวให้อย่างสวยงามครับ

แกงพะแนงเนื้อวากิวยอดมะพร้าวอ่อน และ ข้าวกล้องงอก

พะแนงสำหรับจานนี้ข้นกว่าพะแนงปกติทั่วไป เพราะมีการใส่ถั่วลงไปด้วย (แทบเกือบจะเป็นน้ำจิ้มหมูสะเต๊ะ) กะทิแตกมันนิดๆ หวานและเค็มนำตามสไตล์พะแนงที่ดี กินกับข้าวกล้องงอกที่อร่อยและหอมฉุย (ของผมคดมาครั้งแรกแอบรู้สึกว่านิ่มไปนิด ครั้งที่สองแข็งขึ้น น่าจะเพราะว่าหุงมาสดๆ ร้อนๆ) เมื่อกินคู่กับเนื้อแล้วก็ต้องบอกว่าอร่อยสมบูรณ์แบบอีกเช่นกันครับ เพียงแต่รู้สึกว่าเนื้อมีบทบาทรองและแย่งซีนได้ไม่มากเท่าตัวแกงพะแนงครับ

เนื้อวากิวยอดมะพร้าวอ่อน

แม้จะเห็นว่าเนื้อแย่งซีนได้ไม่มาก แต่แน่นอนว่าในส่วนของพะแนงนั้นผมขอรับเพิ่มครับ ๕๕๕๕๕ ใครจะไปทนไหวล่ะครับ อร่อยขนาดนี้ กินเปล่าๆ แบบไม่มีเนื้อเลยหัวโล้นๆ ยังอร่อยเฉียบขาดครับ

ข้าวกล้องงอก

ชุดของหวานบางส่วน

จากนี้ก็จะเข้าส่วนที่ผมรอคอยมากอีกส่วน คือของหวาน โดยระหว่างนี้สามารถขอเบรคการเสิร์ฟได้ 5 นาที ซึ่งผมก็ทำตามนั้นครับ โดยบริกรจะยกผ้าเย็นออกมาให้ แม้เชฟป้อมจะเป็นแกนหลักของครัว แต่ในส่วนของหวานนั้นจะยกให้กับเชฟอีกสองท่านในการนำเสนอและทำ ซึ่งจะขนมาในรถขนขนาดใหญ่มาอยู่ข้างโต๊ะ และแนะนำทีละจาน โดยในครั้งนี้มีทั้งหมด 15 จานย่อยด้วยกัน (แน่นอนว่าผมเลือกขอรับหมดทุกอย่างตามเคย 5555) จานที่ถือเป็นเอกอุและจะเปลี่ยนรายสัปดาห์สำหรับคราวนี้คือ “ส้มฉุน” ในลูกมะกรูดที่เสิร์ฟมาได้อร่อยเด็ดขาดมาก รสชาติหวานที่ตัดเปรี้ยวอย่างลงตัว ทำให้ผมออกอาการ “เพ้อถึง” ไปได้อีกนานครับ ส่วนที่เหลือนั้นก็จะประกอบไปด้วยอีก 14 จานย่อยๆ ดังนี้

รถของหวาน

หมวดของแห้ง: หยกมณี ทำได้ไม่หวานมาก ชอบครับ, หม้อแกงฟักทอง ออกมาติดร่วนนิดนึง อันนี้ผมก็ชอบครับ ไม่หนักไป, ขนมถ้วย ชอบมากครับ แต่อยากให้หอมใบเตยจรุงจิตกว่านี้อีกนิดครับ, ขนมใส่ไส้ ชอบเหมือนกันครับ ไส้ในแน่นมะพร้าว ด้านนอกเป็นกะทิที่พอดี (เป็นหนึ่งในขนมใส่ไส้ไม่กี่ที่ซึ่งผมยอมกินจนหมด ไม่ทิ้งครึ่งกลางทาง), ขนมตาล เนื้อแน่น หอมหวาน, กล้วยปิ้ง อร่อยครับ, ไข่นกกระทาไส้สังขยา คือที่สุดในหมวดนี้ อร่อยจนผมตกใจ (เข้าข่ายดอกจอก) และฝรั่งชมพูกับพริกเกลือสูตรบ้านมไหสวรรย์ ที่อร่อยเพราะใส่น้ำตาลและมะพร้าวลงไปในพริกเกลือ

ของหวาน 15 อย่าง

หมวดของน้ำ: ทับทิมกรอบ ของหวานไทยที่ผมชอบที่สุด และที่นี่ก็ทำให้ผมเพ้อไปได้อีกจานครับ หวานพอดีลงตัว หอมน้ำกระทิที่ราด ตัวทับทิมกรอบทำได้นุ่มนวลแต่กรอบในครับ, บัวลอย ทำออกมาได้อร่อยมากเช่นกัน มีผสมทั้งเผือก มันม่วง และฟักทอง, น้อยหน่าน้ำกระทิ ที่ยังคงรักษาความเป็นน้อยหน้าได้อย่างชัดเจน พร้อมกับทำกระทิมาเป็นกรานิต้าแบบบิงซู อร่อยจนอยากขออีก, น้ำแข็งไสชาไทย ที่ใส่เฉาก๋วย พร้อมคาร์เวียร์ชาไทย อัลมอนด์ และลูกชิด เข้ากันและอร่อยอย่างหาที่สุดมิได้อีกเช่นกันครับ

หมวดจัดประเภทไม่ได้: ไอศกรีมกะทิ ที่ฐานด้านล่างทำมาจากช็อคโกแลต อีกหนึ่งจานที่เข้าหมวด “อร่อยถึงตาย” และ “เพ้อถึง”, มันเชื่อมราดกะทิ ที่ตอนแรกผมคิดว่ามีเสียวจะหวานเกิน แต่ออกมาพอดีไม่หวานโดดครับ เรียกว่าสมบูรณ์แบบและกินสนุกเช่นกันครับ

แต่เรื่องคืนนี้เราก็ยังไม่จบครับ เพราะทันทีที่กำลังจะกินของหวาน จู่ๆ เชฟป้อมและทั้งห้องอาหารก็ออกมาเซอร์ไพรส์ด้วยเค้กวันเกิดช็อคโกแลตขนาดเขื่อง โดยเชฟป้อมเขียนชื่อผมด้วยสังขยาใบเตยบนจานรอบเค้ก และวางแอปเปิ้ลฝานบางไว้หลังเค้ก ซึ่งผมพบว่าเคล็ดลับที่ดีที่สุดและไม่อยากให้เสียของใดๆ คือ หยิบแอปเปิ้ลมาปาดๆ กับสังขยา แล้วจับโยนเข้าปากครับ อร่อยอย่าบอกใครเลยแหละ ส่วนเค้กก็อร่อยเช่นกันครับ เป็นมูสช็อกโกแลตที่แน่นมากๆ (ครั้นจะหิ้วกลับบ้าน ก็เกรงว่าจะละลายไปหมดเสียก่อน จึงต้อง “จัดการจนจบ” แม้จะรู้ว่าหมอด้านโรคเบาหวานอาจจะกำลังร้องกรี๊ดดังลั่นอยู่ในใจครับ 55555)

เค้กวันเกิด

เสร็จจากนี้ก็ชำระบิล เชฟป้อมจะรอคุยกับเราอีกเล็กน้อยในจุดนี้ ก่อนที่จะส่งเราแยกย้ายเป็นการปิดประสบการณ์ครับ ส่วนตัวผมเองตัดสินใจข้ามเรือไปยังฝั่งตรงข้ามที่คุ้นเคย โดยได้คุณภัทราฤทัย และคุณเกษม เดินมาส่งถึงท่าเรือทั้งสองท่านครับ แล้วจากนั้นผมก็แวะที่ Bamboo Bar สั้นๆ ก่อนตัดสินใจเดินทางกลับครับ


Verdict: ผมจ่ายราคารวมทั้งสิ้น 4,531.45 บาท ถามว่าราคาสูงไหม คำตอบคือสูงมาก แต่ถ้าถามว่าผมจะสรุปได้อย่างไรบ้าง คำตอบที่ผมคิดว่าจะสะท้อนทุกสิ่งทุกอย่างคือ

บ้านพระยา (Baan Phraya) เป็นหนึ่งในร้านอาหารไทยที่เป็น Fine Dining ที่สมบูรณ์แบบมากถึงมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นมิติการบริการ รสชาติของอาหาร ประสบการณ์ที่ได้รับ จนถึงการบริการที่ไร้ที่ติ ชอบมากที่สุดครั้งหนึ่งครับ

ถ้าปีนี้ Restaurant Resonance ที่มาแรงแซงทุกทางโค้งแล้ว ยังทำให้ผมใจสั่นไม่พอ วันนี้ผมต้องบรรจุร้านบ้านพระยา เข้าเป็นอีกหนึ่งในร้านที่ผมจะตั้งใจหาโอกาสมาให้ได้อีกครั้ง อีกหลายครั้ง และน่าจะเป็นดาวอีกดวงที่จรัสแสงในปีนี้ครับ

หน้าร้าน Baan Phraya

และเมื่อย้อนไปยังคำถามที่ผมทิ้งไว้ตอนแรกว่า Mandarin Oriental จะทำ Fine Dining แบบไทยๆ ได้หรือไม่นั้น ผมคิดว่ารีวิวนี้คงตอบได้แล้วว่า “ได้” และทำได้ “ดีมากๆ” เสียด้วยครับ

ใครที่กำลังลังเล หรือคิดว่าควรจะมาดีหรือไม่ คำตอบผมก็คงเป็นว่า “รีบมาก่อนที่คิวจะแน่น และต้องจองกันระดับข้ามเดือนครับ เพราะผมเชื่อว่าวันนั้นน่าจะมาถึงในไม่ช้าครับ”

คะแนน: 4.8 จาก 5 (ปรับคะแนนด้วยสเกลเปอร์เซ็นต์ คือ 97 จาก 100)


ทางไปจองและข้อมูลเพิ่มเติม: https://www.mandarinoriental.com/bangkok/chao-phraya-river/fine-dining/restaurants/thai-cuisine/baan-phraya

สรุปรีวิว

บ้านพระยา (Baan Phraya) เป็นหนึ่งในร้านอาหารไทยที่เป็น Fine Dining ที่สมบูรณ์แบบมากถึงมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นมิติการบริการ รสชาติของอาหาร ประสบการณ์ที่ได้รับ จนถึงการบริการที่ไร้ที่ติ ชอบมากที่สุดครั้งหนึ่งครับ

Recent articles

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here

บ้านพระยา (Baan Phraya) เป็นหนึ่งในร้านอาหารไทยที่เป็น Fine Dining ที่สมบูรณ์แบบมากถึงมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นมิติการบริการ รสชาติของอาหาร ประสบการณ์ที่ได้รับ จนถึงการบริการที่ไร้ที่ติ ชอบมากที่สุดครั้งหนึ่งครับรีวิวร้าน Baan Phraya (บ้านพระยา) Mandarin Oriental Bangkok