Tuesday, 19 March 2024
Homeเรื่องแบ่งปันChim by Siam Wisdom อาหารไทยดั้งเดิม ที่ยกระดับจนประทับใจ

Chim by Siam Wisdom อาหารไทยดั้งเดิม ที่ยกระดับจนประทับใจ

ร้านอาหารไทยที่ติดดาวมิชลินตั้งปีแรก มีดีที่ต้มยำปลาช่อนโบราณ อร่อยจนวิดน้ำ

Chim By Siam Wisdom (ชิม บาย สยาม วิสดอม) ถือเป็นร้านอาหารชุดแรกสุดในประเทศที่ได้ดาวมิชลินของประเทศไทย ซึ่งยังคงเอกลักษณ์ความเป็นอาหารไทยดั้งเดิม แต่ชูความเป็นอาหารท้องถิ่นของแต่ละที่เพื่อทำให้มีความเป็นไทยมากที่สุด

ส่วนตัวแล้วเป็นร้านที่โฉบไปโฉบมาตลอด ไม่มีโอกาสได้ไปแบบจริงจัง จนกระทั่งมีดีลของเว็บไซต์รีวิวอาหารแห่งหนึ่งลดราคาอยู่ จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่จะเข้าไปชิมและรีวิวร้านอาหารนี้ ซึ่งยอมรับว่าประสบการณ์ที่ได้รับนั้น ควรค่าแก่ศักดิ์ศรี 1 ดาวมิชลิน ที่อยู่มาอย่างยาวนานถึง 5 ปีเต็ม


ท่ามกลางอากาศที่ร้อนเปรี้ยงและแดดจ้าแถวบ้านของวันเสาร์ต้นเดือนตุลาคม ผมค่อยๆ เดินลัดเลาะไปตามร่มอาคารที่ผมคุ้นเคย โดยวันนี้มีเป้าหมายคือร้านอาหารไทยที่มีชื่อว่า “Chim by Siam Wisdom” (อ่านภาษาไทยก็ตรงตามตัว คือ ชิม บาย สยาม วิสดอม) ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้าน (และถ้าจะกล่าวกันตามตรง นี่เป็นร้านมิชลินที่อยู่ใกล้บ้านผมที่สุดแล้ว)

ร้านดังกล่าวนี้เป็นร้านที่ติด 1 ดาวมิชลินมาตั้งแต่ตอนแรกสุดที่มี (ติดของปี 2018 ที่ประกาศตอนท้ายปี 2017) ซึ่งผมหมายมั่นปั้นมือว่าจะเข้าไปกิน แต่จนแล้วจนรอด ผมก็ไม่เคยมีโอกาสเข้าไปกินเลย และราคาก็ถูกปรับขึ้นด้วย ยังไม่นับช่วงโควิดระบาดอีก นั่นทำให้ร้านนี้เป็นหนึ่งในร้านที่ติดรายชื่อกลุ่ม “อยากไปแต่ยังไม่ได้ไป” สักที

จนกระทั่งผมเจอกับเว็บไซต์รีวิวอาหารแห่งหนึ่ง ที่มีดีลขายด้วย โดยเป็นสัปดาห์แรกที่มีดีลขายและผู้ถือบัตรของธนาคารแห่งหนึ่ง (ซึ่ง ณ วันที่เขียน กำลังอยู่ระหว่างถ่ายโอนกิจการธนาคารส่วนบุคคลทั้งหมด ไปให้อีกธนาคารของสิงคโปร์ที่เข้าซื้อส่วนกิจการนี้) จะได้ส่วนลดเพิ่ม 18% จึงตัดสินใจกำบัตรเครดิต แล้วซื้อดีลนี้มาในราคา 1,639.18 บาท เพื่อจะได้ลบร้านนี้ออกจากรายชื่อค้างคาเสียที

ครั้งนี้ก็เช่นเคย ผมเลือกที่จะใช้บริการเลขาส่วนตัวของบัตรเครดิตธนาคารแห่งหนึ่ง (ธนาคารนี้ปัจจุบันเป็นเครือของธนาคารยักษ์ใหญ่ในญี่ปุ่น) ให้จองบริการให้ เพื่อทดสอบบริการจอง ก็พบว่าเรียบร้อยไม่มีปัญหาแต่ประการใด โดยเลือกจองตอนเที่ยงตรงวันเสาร์ เพื่อให้ง่ายกับการบริหารจัดการชีวิต


ร้านนี้เดิมมีชื่อว่า Siam Wisdom หรือ สยาม วิสดอม แต่พอได้เชฟหนุ่ม ธนินธร จันทรวรรณ ที่ไปสั่งสมประสบการณ์ (เอ หรือผมควรเรียกว่า บำเพ็ญทุกรกริยา ดี? เพราะเคยอ่านที่เชฟให้สัมภาษณ์แล้วบอกได้เลยว่าสู้ชีวิตมากๆ) ในภัตตาคารที่อังกฤษ ก่อนที่จะกลับมาโด่งดังในประเทศไทย ในฐานะคู่แข่งเชฟเอียน (พงษ์ธวัช เฉลิมกิตติชัย) ในรายการทีวีรายการหนึ่ง จึงเปลี่ยนชื่อเป็น Chim By Siam Wisdom และเชฟได้นำพาร้านให้ติดดาวมิชลินตั้งแต่ปีแรกมาจนปัจจุบัน ซึ่งในเวลานั้นเป็นร้านมิชลินหนึ่งดาวที่มีราคาถูกเกือบที่สุด (อีกร้านที่ถูกกว่าคือ เสน่ห์จันทน์) ก่อนที่จะขึ้นราคาและปิดบริการมื้อกลางวัน และเจอมรสุมโควิดไปอยู่พักหนึ่ง ก่อนจะกลับมาเปิดใหม่เต็มรูปแบบเมื่อช่วงต้นปีนี้

ตัวร้านนั้นตั้งอยู่ในซอยสุขุมวิท 31 แยก 4 หรือถ้าจะเรียกแบบลำลองก็คือ ซอยสวัสดี แยก 4 ซึ่งถ้าใครอยากเดินก็ไม่ยากครับ เดินเท้ามาจากสถานีบีทีเอสพร้อมพงษ์ เลี้ยวเข้าซอยสุขุมวิท 31 แล้วยิงตรงยาวๆ (ผ่านบ้านอดีตนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่ง) จนกระทั่งถึงซอยสุขุมวิท 31 แยก 4 ระยะทาง 1.4 กิโลเมตร (ประมาณ 18 นาทีหากเดิน) เลี้ยวเข้าไปซอยนิดเดียวก็จะพบกับร้าน ซึ่งเป็นบ้านทรงไทยหลังใหญ่เบ้อเริ่ม อยู่ท่ามกลางบ้านของผู้อยู่อาศัยแถบนี้อย่างโดดเด่นครับ

หน้าร้าน Chim By Siam Wisdom
ทางเข้าร้าน Chim By Siam Wisdom

เมื่อผมเดินเข้าไปตอน 12:00 น. ตรงเวลานัด ก็พบกับบริกรของผมที่เมื่อฟังจากการพูดแล้ว น่าจะไม่ใช่คนไทย (มีติดสำเนียงฝรั่ง) แต่กลับใช้ภาษาไทยได้อย่างคล่องแคล่วมาก นั่งรออยู่ เสมือนหนึ่งว่ากำลังรอผมนานแล้ว และมีแมวสีขาวดำเดินตัดหน้าผมไป ก่อนที่จะพาผมขึ้นไปยังด้านบนของเรือนทรงไทยหลังนี้

ทางขึ้นเรือน

เมื่อเดินขึ้นบนเรือน ก็พบกับพระ รวมถึงต้นไม้ที่เก่าแก่ซึ่งอยู่กลางเรือน (เท่าที่ฟังจากบริกร ต้นไม้นี้มีอายุมากกว่าร้อยปีแล้ว) และแน่นอนว่ารวมถึงป้ายมิชลินหนึ่งดาว ที่มีตั้งแต่ปี 2018 เรื่อยมา

พระและป้ายดาวมิชลิน

ในตัวเรือนนั้นด้านบนเจาะทะลุให้ส่องแสงลงมา แล้วมีโต๊ะอยู่รอบๆ ซึ่งบริเวณด้านข้างของร้านจะมีห้องทานอาหารส่วนตัวอีกสองห้อง ห้องใหญ่รองรับได้ 20 คน ส่วนห้องเล็กก็จะไม่เกิน 6 คน ซึ่งมีห้องน้ำในตัวด้วย ส่วนครัวนั้นจะอยู่ด้านล่างของบ้าน เมื่ออาหารมา ก็จะขึ้นมาเสิร์ฟแขกที่นั่งอยู่ด้านบน

บรรยากาศภายในร้าน

ตอนแรก ผมยังไม่ทราบข้อมูลบางอย่าง เลยถามบริกรไปด้วยความสุภาพว่า วันนี้ร้านคึกคักหรือไม่ ซึ่งคำตอบที่ได้ทำเอาผมตะลึง เพราะผมเป็นลูกค้า “ท่านเดียว” สำหรับมื้อกลางวันในวันนี้ ทางร้านจึงตัดสินใจเปิดห้องส่วนตัวเล็ก (นั่งได้ 6 คน) ให้ผมได้กินอาหารแบบเป็นส่วนตัวเป็นที่สุด – ต้องขอบคุณทางร้านที่ตัดสินใจเปิดให้บริการกับแขกเพียงคนเดียว และบัตรเครดิตที่จองร้านให้ ซึ่งทำให้ผมได้บรรยากาศแบบ “ปิดร้านกินคนเดียว” ครั้งแรกในชีวิต

ห้องส่วนตัวที่มีผมนั่งเพียงคนเดียว
มุมที่นั่งทานอาหารคนเดียว
เครื่องโต๊ะและอุปกรณ์

ในห้องทานอาหารส่วนตัวนี้ มีห้องน้ำในตัวอย่างที่ได้บอกไปแล้ว แต่ถ้าท่านใดที่มีโอกาาสเข้ามาใช้และสังเกต ก็จะพบว่าเป็นห้องน้ำส่วนตัวที่มีที่อาบน้ำ (shower) อยู่ในห้องด้วย ซึ่งบ่งบอกได้ว่าแต่เดิมที่แห่งนี้เป็นห้องนอนของคนที่เคยอยู่ในบ้านหลังนี้อย่างแน่นอน

เสร็จหลังจากนั่ง บริกรก็ถามว่าผมต้องการเครื่องดื่มเป็นอะไร คราวนี้ผมขอรับเป็นน้ำเปล่า ซึ่งก็ถูกถามต่อว่าจะเป็น Still หรือ Sparkling ผมนั่งนึกอยู่ 3 วินาที จึงเอ่ยไปว่าอยากได้ Still หลังจากนั้นไม่นานบริกรก็ออกจากห้องแล้วกลับมาพร้อมกับ Aqua Panna ขวดเบ้อเริ่ม (200++ บาท) จากนั้นจึงนำเมนูมาวางไว้ โดยเป็นเล่มสวยงาม (แต่พิมพ์ผิดเยอะมากจนผมก็งง)

ด้วยความที่ซื้อดีลมา เลยพอจะจำเมนูได้อยู่บ้าง แต่ยอมรับว่ามีอีกอย่างที่ไม่คาดคิด นั่นก็คือ Amuse-bouche (อะมุซบุช) หรือถ้าจะแปลความง่ายๆ คือ อาหารเรียกน้ำย่อยที่เชฟทำมาให้ลองชิมเป็นอภินันทนาการ (ที่ไม่ใช่ ชรินทร์ นันทนาคร นักร้องลูกกรุงชื่อดัง) นั่นทำให้วันนี้ผมต้องเจออาหารหลายจานอยู่

เมนูสำหรับวันนี้

สำหรับอาหารในวันนี้ จะไม่ใช่เชฟหนุ่มที่มาดูแล แต่จะเป็นหนึ่งในทีมของเชฟหนุ่ม ซึ่งเชฟหนุ่มฝึกมาอย่างดี โดยจะเข้ามาอธิบายอาหารในแต่ละคอร์สอย่างละเอียด นับเป็นความกรุณาของเชฟอย่างสูงมากจริงๆ

ก่อนจะเริ่มจานแรก ทานร้านมีขนมดอกจอกมาให้จำนวน 3 ชิ้น เสิร์ฟมาในชะลอมขนาดย่อม ขนมดอกจอกที่แป้งมีงาผสมนี้ทอดมากำลังดี ไม่อมน้ำมัน กรอบแบบชนิดกรุบมาก สำคัญที่รสชาติไม่หวานมากด้วย

เปิดมาด้วยอะมุซบุช (ในภาพเหลือสอง เพราะผมเผลอกินไปก่อนหนึ่ง ก่อนจะนึกได้ว่าต้องถ่ายรูป) จำนวน 3 คำ เสิร์ฟมาในถาดไม้สีดำ กินจากซ้ายไปขวา ผมพยายามฟังแล้วก็พบว่ารายละเอียดเยอะมาก จนต้องรีบหากระดาษที่พกมาติดตัวไว้จดครับ รายละเอียดมีดังนี้

Amuse-bouche
  • ข้าวตังหน้าตั้งคู่กับหลนข้าวหมากกับหมูชีวา – คำนี้เป็นข้าวตังโปะหน้าด้วยหลนข้าวหมากกับหมูชีวา ตอนแรกผมนึกว่าจะมีรสของข้าวหมากออกมาชัดเจน แต่ปรากฎว่ารสออกมาเหมือนหลนหมูมากกว่า รสชาติติดไปทางหวานแต่ไม่ถึงกับหวานมาก รสออกไปทางแกงคั่วนิดๆ มีเผ็ดและเค็มขึ้นมาประกบคู่ และได้สัมผัสของเนื้อหมูมาเล่นด้วย ข้าวตังขึ้นมาเล่นบทบาทตัดจบทำให้สะอาด คำนี้ชอบมากครับ (ชอบระดับไม่มีปรากฎในรูป 555)
  • เมี่ยงคำโบราณสูตรของร้าน – เมี่ยงคำใช้ใบเมี่ยงที่ปลูกอยู่ด้านล่างเรือนเข้ามา พร้อมกับใช้เครื่องเหมือนเมี่ยงคำปกติ จุดที่แตกต่างคือใส่น้ำส้มซ่าเข้าไปเพิ่ม ทำให้เมี่ยงคำมีความเปรี้ยวขึ้นมาแซม นอกเหนือไปจากเครื่องปกติ คำนี้ผมก็ชอบมากด้วยเช่นกันครับ
  • ม้าฮ่อสัปปะรดเพชรบูรณ์ – เชฟอธิบายว่า นอกเหนือไปจากมะขามแล้ว ทางร้านตั้งใจที่จะเอาสัปปะรดจากเพชรบูรณ์มาเป็นอีกหนึ่งตัวชูโรงด้วย สำหรับถั่วก็มีการทุบให้ละเอียดก่อนจะเอาไปคลุก แล้วรองด้วยใบผักชี ตอนแรกผมกังวลว่ากลิ่นผักชีจะขึ้นมาปราบจานนี้พังทลายหรือไม่ แต่ไม่ครับ จานนี้เป็นม้าฮ่อในแบบโบราณดั้งเดิมครบถ้วนทุกประการ อร่อยมากเช่นกันครับ (ต่างจากที่บ้านพระยาที่ออกมาแนวสามเกลอมากกว่า และมีการคิดท่าใหม่ด้วย)

หมดจากอะมุซบุชแล้ว เข้าสู่จานเรียกน้ำย่อย ที่จานแรกเป็น “กุ้งสโหร่ง” โดยเชฟอธิบายว่าจานนี้มีการดึงองค์ประกอบแบบอาหารตะวันตกออกมาด้วย ที่ร้านใช้กุ้งมาห่อด้วยแป้งฟิโล (แป้งทำเพสตรี้ทั้งหลาย) ที่ทำออกมาเหมือนเส้นหมี่ ด้านล่างมียำมะละกอขูด (หากจำผิดต้องขออภัย) และใบเมี่ยงรองอยู่ พร้อมกับใช้มายองเนส ผสมกับพริกทาบาสโกและใบบัวบก (ให้สีเขียว) พร้อมกับปิดท้ายด้วยใบบัวบกประดับบนจาน ตอนทานควรกินพร้อมกันรวมกับซอสด้วย

กุ้งสโหร่ง

จานนี้เป็นจานที่ผมชอบเป็นอันดับต้นๆ ในมื้อนี้ ด้วยสัมผัสที่แตกต่างและไม่เหมือนใคร มีทั้งความเปรี้ยว เผ็ด เค็ม และกรอบ รวมอยู่ในจานเดียว แถมยังบิดด้วยความเป็นตะวันตกผ่านการให้มายองเนสด้วย ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายที่จะทำให้ทุกองค์ประกอบนี้รวมกันได้ ตัวกุ้งกรอบมากๆ และให้สัมผัสที่ตัดกับตัวยำได้เป็นอย่างดี


ถัดมาเป็น “ไก่ยอดขามและซอสฆอและ” ที่เอาไก่เบญจา (ไก่ปลอดสารพิษของ U-farm แบรนด์ย่อยของ CPF) นำมาหมักแล้วนำไปย่าง จากนั้นใช้ซอสใบมะขามกับซอสฆอและ (ง่ายที่สุดสำหรับคนกรุงเทพคือ ไก่กะทิแดง ที่หากินได้จากทางใต้ จะติดออกหวานๆ เน้นไปกะทิ) ก่อนจะเสิร์ฟด้วยใบมะกรูดและพริกชี้ฟ้าโรยด้านบน พร้อมแนบมะกรูด 1/4 ลูกมาให้เป็นความเปรี้ยว จานนี้เชฟแนะนำให้กินนิดนึงก่อน จากนั้นถึงค่อยบีบมะกรูดลงไปเพื่อเพิ่มสัมผัสและความเปรี้ยวครับ

จานนี้สิ่งที่สัมผัสได้คือไก่ฆอและ แต่มีความขมเข้ามาแทรกแบบเบาที่สุด ทำให้ความหวานมันไม่โดดเด่นจนเกินไปนัก เมื่อบีบมะกรูดลงไปเพิ่ม ความเปรี้ยวตัดผ่านความมันและหวาน ทำให้ไม้นี้ออกมากลมกล่อมเป็นอย่างมากครับ


หมดจานไก่ยอดขามและซอสฆอและแล้ว จากนี้เชฟจะเสิร์ฟมา 3 จานพร้อมๆ กัน โดยจะเปิดด้วยจานลายมือชื่อเอกลักษณ์ของร้าน “ต้มยำปลาช่อนโบราณ” ที่นำเอาปลาช่อนนา (เชฟระบุว่าเลือกร้านเป็นพิเศษ) มาทำต้มยำตามแบบฉบับของโบราณ ที่มีการใส่มะเขือเทศราชินี ตะลิงปลิง ผักชีหลากหลายรูปแบบ พร้อมเครื่องปรุงแบบต้มยำที่เราคุ้นเคย แต่สิ่งที่แตกต่างคือใส่ข้าวดิบลงไประหว่างต้มด้วย

เชฟเล่าว่าจานนี้เกิดจากการไปค้นพบสูตรแบบโบราณของหม่อมส้มจีน ร.ศ. 109 ที่ทำเพื่อถวายให้รัชกาลที่ 2 และในเวลานั้นรัชกาลที่ 2 ไม่ทรงโปรดเสวยข้าว หม่อมส้มจีนจึงใส่ข้าวลงไปในต้มยำ เพื่อทำให้ทรงมีโอกาสเสวยข้าวด้วยนั่นเอง

จานนี้เสิร์ฟมาในหม้อร้อนพร้อมกับฝาครอบ (หม้อใหญ่มาก) ซึ่งเชฟจะมาคนจนกระทั่งเย็นลงระดับหนึ่งถึงจะตักให้เสิร์ฟกับผู้ที่มาทานครับ เรียกว่าตื่นตาตื่นใจพอสมควร

ต้มยำปลาช่อนโบราณ

สำหรับรสชาตินั้น ผมขออนุญาตนิยามว่า นี่เป็นต้มยำที่อร่อยที่สุดเท่าที่ผมเคยกินมาในชีวิต เป็นต้มยำที่มีทั้งความเผ็ด ความเค็ม ความหวาน ความมัน และความเปรี้ยว ที่ครบสมบูรณ์แบบที่สุดแล้วเท่าที่ผมเคยกินมา รสชาติแม้จะเผ็ดแต่ก็เป็นความเผ็ดร้อนที่ไม่ได้โจมตีที่ลิ้น (ไปร้อนด้านในมากกว่า) หรือเปรี้ยวจนจี๊ด แต่กลับมีความกลมกล่อมได้ดีที่สุด พร้อมกับปลาช่อนที่สดมากๆ และความหวานที่โผล่มาโอบอุ้ม ทั้งหมดเพิ่มความซับซ้อนด้วยแป้งจากข้าวที่เพิ่มสัมผัสทำให้ต้มยำแปลกและแตกต่าง ขอย้ำอีกทีว่านี่เป็นต้มยำที่อร่อยชนะขาดลอยในทุกๆ ร้านที่ผมเคยกินมาในชีวิต

ทางร้านทิ้งน้ำต้มยำไว้ให้เติมจนกว่าจะพอใจด้วย ซึ่งผมก็เติมเพิ่มอีก 2 ถ้วยถ้วน ในระดับที่วิดน้ำแกงต้มยำจนหมดถ้วย และถึงขั้นเอ่ยปากว่าถ้าขอเก็บกลับบ้านได้ก็ใส่ถุงมาให้ด้วย (ท้ายที่สุดทางร้านไม่ได้ใส่มาให้ อาจจะเพราะการสื่อสารที่ทำให้ลืม แต่อันนี้เรื่องเล็กน้อย) เพราะจะเอาไปกินต่อกับข้าวเย็น


หลังต้มยำมา อีกสองจาน (สามอย่างหลัก) ก็ออกมาพร้อมกัน เริ่มที่จานแรกอันได้แก่ “ปลาจี้หมุ่น” เชฟระบุว่าเลือกปลามาจากสงขลาที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นปลาสามน้ำมาใช้มาทอด พร้อมกับซอสพิเศษของทางร้านที่มีทั้งความเปรี้ยว หวาน และเค็ม ใส่ต้นหอมและเครื่องเทศนานาชนิด โรยหอมกับพริกชี้ฟ้าแห้งมาประดับไว้ จานนี้อร่อยดีครับ มีครบทุกรสชาติที่ร้านบอก ติดนิดหน่อยที่อาจจะไม่ลึกมาก แต่ถือว่าอร่อยและดีงามครับ

ปลาจี้หมุ่น

และปิดท้ายกับของหลักสองอย่าง คือ “กุ้งฉู่ฉี่” ที่เลือกกุ้งแม่น้ำขนาดใหญ่ (แต่ไม่ถึงกับใหญ่พิเศษจัมโบ้แบบบ้านพระยา) มาย่างได้กำลังดี แล้วราดด้วยเครื่องฉู่ฉี่ ทำให้ได้รสชาติที่หวานแต่ไม่แหลม และหอมเครื่องแกงอย่างมาก ผสานกับมันกะทิ จานนี้ออกมาใช้ได้ทีเดียว ทานกับ “ข้าวหุงน้ำลอยดอกมะลิ” โดยเป็นข้าวหอมมะลิมาหุงกับน้ำลอยดอกมะลิ เสิร์ฟมาในพะอบขนาดย่อม เรียกว่าหอมฉุยจรุงจิตเลยทีเดียว (แม้จะต้องปรับวิธีคิดนึง เพราะกลิ่นและข้าวพาผมนึกถึงข้าวแช่ไปได้ตลอดเวลา)

กุ้งฉู่ฉี่มะพร้าวหอม และ ข้าวหุงน้ำลอยดอกมะลิ
กุ้งฉู่ฉี่มะพร้าวหอม

หมดจากนี้ โต๊ะจะถูก reset ด้วยการหยิบเครื่องใช้คาวออกไปเฉยๆ (ไม่รู้เพราะผมกินเกลี้ยงไปหรือไม่ 555) แล้วขึ้นด้วยช้อนไอติมหนึ่งคันถ้วน ผมเลยได้โอกาสถามว่าของหวานรอบนี้เป็นอะไร คำตอบคือ “ขนมโค” นั่นเองครับ ใช้เวลาไม่นานก็มาปรากฎตัวตรงโต๊ะ

ขนมโค

เชฟอธิบายว่า ขนมโคนี้ใช้น้ำตาลโตนดเมืองเพชรมาทำ ด้านในเป็นมะพร้าวหอมกับน้ำตาลโตนดคุณภาพสูงมาทำ โดยเลือกใช้น้ำกะทิที่หวานน้อยลงเพื่อให้ตัดกับความหวานด้านใน แล้วก็มีบัวลอยลูกเล็กๆ (แบบที่เห็นตอนไหว้ขนมบัวลอยของจีน) ด้วย ก่อนจะโรยหน้าด้วยงาขาวและดำ แทนหยินหยาง และตกแต่งด้วยใบอัญชันครับ

จานนี้ถ้ากินแยก โดยเฉพาะไส้ของมะพร้าวจะหวานพอสมควร (ไม่ถึงกับแสบคอแต่ก็หวานอยู่) กับกะทิที่แลดูจะกร่อยๆ ติดออกนมมากกว่า แต่พอกินด้วยกันแล้วออกมากำลังพอดีครับ กลมกล่อมพอสมควร

ชุดรวมของหวาน

และจะด้วยอะไรที่ผมเองก็คาดเดาไม่ได้ จู่ๆ เชฟสั่งให้บริกรเอาชุดรวมของหวานขึ้นมาอีกชุดเป็นอภินันทนาการ ด้านในของถาดใหญ่นี้ประกอบด้วย ผลไม้รวม ลูกชุบ คุกกี้ แล้วก็ข้าวเหนียวมูนกะทิกับสังขยาใบเตยของร้าน (ที่ข้นมากจนตอนแรกผมนึกว่าขนม 555)

ผลไม้รวมคงไม่มีความเห็นอะไรมาก นอกจากผลไม้สดมาก แล้วก็สัปปะรด (น่าจะเพชรบูรณ์) ที่ฉ่ำมากครับ

ผลไม้รวม

คุกกี้ที่ทำออกมาหน้าตาเหมือนขนมกลีบลำดวน ซึ่งพอกินเข้าไปก็ให้ความรู้สึกเช่นเดียวกับดอกลำดวน ร่วน หอมกลิ่นควันเทียนจรุงจิตมากครับ แต่ที่เด็ดขาดคือใส่งาในแป้งด้วย อันนี้เกินคาดไปมากๆ อร่อยเลยครับ

คุกกี้

ลูกชุบ ที่ทำออกมาเป็นมะเฟืองจิ๋ว (เอ หรือตะลิงปลิง ไม่แน่ใจ) อันนี้รสชาติโอเคครับ ไม่หวานแสบมาก แต่เนื้อเนียนละเอียดมาก (นึกถึงร้านมะลิวรรณ ซอยอารีย์ แถวที่ทำงาน รสชาติทำนองนี้เช่นกัน)

ชุดสุดท้ายคือข้าวเหนียวมูนน้ำกะทิและสังขยา ตัวข้าวเหนียวมูนอาจจะติดกันเกินไป แต่การกินคู่กับสังขยานั้นก็ดีไปอีกแบบครับ เรียกว่าแปลกใหม่เลยทีเดียว สังขยานั้นเป็นก้อนนะครับ ไม่เหลว ดังนั้นถ้าจะกินผมจะใช้วิธีปาดกับข้าวเหนียวครับ อร่อยไปอีกแบบ

ข้าวเหนียวมูนน้ำกะทิและสังขยา

ถ้าคิดว่านี่เป็นตอนจบแล้ว ไม่ใช่ครับ ตอนจบของร้านจริงๆ นอกจากการเช็คบิลค่าน้ำ (200++ บาท) และการแลกคูปองดีลที่ผมซื้อมาแล้ว คือการเสิร์ฟน้ำชาอีกหนึ่งกายักษ์ขนาดใหญ่ ชาที่ว่าเป็นชาคาโมมายล์ผสมน้ำผึ้งเพียงเล็กน้อย ให้รสสัมผัสที่ผ่อนคลายและความหวานที่เบาบางครับ ชอบอยู่ทีเดียว (แต่ดื่มเท่าไหร่ก็ไม่หมด เยอะมากจริง)

น้ำชาปิดท้าย

ป้ายหน้าร้าน Chim By Siam Wisdom

มื้อนี้หากรวมค่าน้ำไปด้วย จะอยู่ที่ 1,874.58 บาท ซึ่งถ้าให้ผมสรุปแบบง่ายที่สุด นี่คือหนึ่งในร้านอาหารไทยติดดาวที่น่าสนใจมาก และมีรสมือที่ค่อนข้างดี ตรงจริตผมระดับหนึ่ง (แต่ไม่มากเท่าบ้านพระยา) ลูกเล่นอาจจะไม่ได้มาก เพราะร้านและเชฟยืนยันว่าอยากให้อาหารออกมาแนวโบราณและดั้งเดิม (จะเรียกว่า orthodox ก็น่าจะถูกต้อง) ถามว่าผมชอบไหม ก็ถือว่าชอบ แต่ถ้าให้บอกว่ามีส่วนที่ทำให้ถึงกับตื่นตาตื่นในทุกๆ คอร์ส ก็คงจะไม่ใช่

ในด้านบริการก็ต้องบอกว่า หากไม่นับที่ลืมเก็บน้ำต้มยำใส่ถุงให้ผมหิ้วกลับบ้านไปวิดน้ำกินเป็นข้าวเย็นต่อ บริการและบริกรผมให้คะแนนแทบจะเท่ากับบ้านพระยาเลยทีเดียว เรียกว่าเอาใจใส่ทุกขั้นตอน และให้รายละเอียดที่ครบถ้วนทุกมิติ จนผมประทับใจอย่างมาก (เหลือก็แค่เรียกชื่อถูกตั้งแต่ไปรอหน้าร้าน)

สำหรับผมแล้ว ชิม บาย สยาม วิสดอม ถือเป็นร้านอาหารไทยอีกร้านหนึ่งที่น่าประทับใจ แน่นอนว่าหากเลือกจะมาทานอาหารไทยดีๆ สักมื้อ ผมก็คงเลือกร้านนี้ แต่จริตผมนั้นออกจะค่อนไปทางร้านอย่าง เสน่ห์จันทน์ (ที่เปลี่ยนเชฟเป็นว่าเล่น) หรือถ้าตรงจริตจริงๆ ก็คงเป็น บ้านพระยา (Baan Phraya) ไปเลยครับ

แต่มีสิ่งหนึ่งที่ถ้าผมจะเลือกมากินที่นี่อีก ก็คงเป็นต้มยำปลาช่อนโบราณนั่นแหละครับ ติดจนถอนตัวไม่ขึ้นแล้ว และคิดว่าคงจะไปกินต้มยำที่อื่นยากแล้วแน่นอนครับ


คะแนน: 4.6 จาก 5 (ปรับคะแนนด้วยสเกลเปอร์เซ็นต์คือ 92 จาก 100)

ทางไปจองและข้อมูลเพิ่มเติม: https://www.facebook.com/Chimbysiamwisdom/

CONCLUSION

Chim By Siam Wisdom
92 %

SUMMARY

Chim By Siam Wisdom (ชิม บาย สยาม วิสดอม) เป็นอีกหนึ่งร้านอาหารไทยที่น่าสนใจ นำเสนออาหารไทยแบบดั้งเดิม แม้จะติดออกธรรมดาไปบ้าง และมีร้านอื่นที่นำเสนอดีกว่านี้ แต่ต้มยำปลาช่อนโบราณคือสิ่งที่ควรค่าในการกลับมากินซ้ำอีก

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here

- Advertisment -
Chim By Siam Wisdom (ชิม บาย สยาม วิสดอม) เป็นอีกหนึ่งร้านอาหารไทยที่น่าสนใจ นำเสนออาหารไทยแบบดั้งเดิม แม้จะติดออกธรรมดาไปบ้าง และมีร้านอื่นที่นำเสนอดีกว่านี้ แต่ต้มยำปลาช่อนโบราณคือสิ่งที่ควรค่าในการกลับมากินซ้ำอีกChim by Siam Wisdom อาหารไทยดั้งเดิม ที่ยกระดับจนประทับใจ