Friday, 26 April 2024

การกลับไปพิจารณา “เหตุผลของรัฐ” และ “การปกครองชีวญาณ” ของฟูโกต์: ทัศนะเชิงวิพากษ์จากคำบรรยายที่วิทยาลัยแห่งฝรั่งเศส

Raison d’Etat is the very essence of the state, and it is equally the knowledge (connaissance) that enables us to follow, as it were, the weave of this raison d’Etat, and comply with it.

Michel Foucault (Security, Territory, Population; 257)

ความนำ

ในบรรดาหลายแนวคิดที่มีความสำคัญของ มิเชล ฟูโกต์ คือการพูดถึงสิ่งที่เรียกว่า “การปกครองชีญาณ” (Governmentality) ที่มาจากคำว่า “govern” + “mentality” (การปกครอง + วิธีคิด) ซึ่งถือเป็นแนวคิดหลักหนึ่งของฟูโกต์นอกเหนือไปจากแนวคิดอย่าง วาทกรรม, ประวัติศาสตร์ทางเพศ และอื่นๆ ซึ่งแนวคิดของการปกครองชีวญาณนั้นเป็นแนวคิดที่ว่าด้วยเรื่องของการปฏิบัติการของรัฐ และเป็นคำอธิบายที่ชัดเจนอย่างมากของฟูโกต์ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการของรัฐที่มีต่อบุคคลภายในรัฐ

อย่างไรก็ตาม ความคิดเรื่องของการปกครองชีวญาณนั้นก็เป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงกันมาก โดยลืมพูดถึงสิ่งที่เรียกว่า “เหตุผลของรัฐ” (Raison d’Etat) ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมืออย่างสำคัญของรัฐที่ทำให้รัฐนั้นสามารถมีความชอบธรรมในการตรวจตราประชาชนและการใช้การปกครองชีวญาณ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการบริหารจัดการประชาชนได้\

ในบทความนี้ จะเป็นการทบทวนวรรณกรรม ความเข้าใจ และประเด็นที่เกี่ยวกับการปกครองชีวญาณและเหตุผลของรัฐ จากคำบรรยายที่วิทยาลัยแห่งฝรั่งเศส ในปีคริสตศักราช 1977-1978

ภาพรวมของการบรรยายหัวข้อ “ความมั่นคง, เขตแดน, ประชากร”

หลังจากการหยุดบรรยายมาหนึ่งปี (1976-1977) ฟูโกต์ได้กลับมาบรรยายต่อ โดยในช่วงปี 1977-1978 นั้น ฟูโกต์ได้กำหนดหัวข้อของการบรรยายเอาไว้ว่าเป็นเรื่องของ “Security, Territory, Population” หรือ “ความมั่นคง, เขตแดน, ประชากร” ซึ่งในภายหลัง ฟูโกต์ได้แสดงความไม่พอใจต่อชื่อดังกล่าวนี้เอาไว้ในสัปดาห์ที่ 4 (วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 1978) ไว้ว่า “ว่ากันอย่างพื้นๆแล้ว ถ้าผมต้องการที่จะระบุชื่อของการบรรยายปีนี้ให้ชัดเจน ผมจะไม่มีทางเลือกชื่อ “ความมั่นคง, เขตแดน, ประชากร” อย่างแน่นอน สิ่งที่ผมอยากจะใช้จริงๆคือบางสิ่งที่ผมเรียกมันว่า ประวัติศาสตร์ของ “การปกครองชีวญาณ” [แปลโดยผู้เขียน]”[1]

โดยทั่วไปแล้ว การบรรยายในปี 1977-1978 นี้เป็นการบรรยายที่มีการมุ่งเน้นไปที่เรื่องของรัฐโดยตรง อาจกล่าวว่าเป็นการบรรยายที่มีความแตกต่างจากการบรรยายปีก่อนหน้า เช่น “การตีความของผู้ผลิตตัวตน” (The Hermeneutics of Subject) “สังคมต้องได้รับการปกป้อง” (Society Must Be Defended) หรือ “พลังจิต” (Psychiatric Power) ที่ถึงแม้ทั้งสองอย่างนั้นไม่ได้มีการเน้นที่ลงไปในตัวรัฐอย่างชัดเจน แต่ในการบรรยายปีนี้นั้นลงเน้นไปยังที่ตัวของรัฐ ซึ่งการบรรยายในปีนี้นั้นจะสอดคล้องและต่อเนื่องกับการบรรยายในปีถัดมาที่มีชื่อว่า “กำเนิดของชีวการเมือง” (The Birth of Politics)

ความสำคัญของการบรรยายนี้อยู่ที่การเน้นไปยังเรื่องของ “ชีวอำนาจ” (bio-power) ซึ่งถือเป็นประเด็นใหญ่สุดของการบรรยายในปีนี้ โดยฟูโกต์ได้กล่าวถึงเรื่องนี้เป็นประเด็นแรก จากนั้นฟูโกต์จึงเริ่มเข้าสู่การอธิบายถึงเรื่องของการปกครองชีวญาณ ต่อด้วยประเด็นเรื่องของประชากรและลักษณะองค์ประกอบของความมั่นคง หลังจากนั้นถึงพยายามอธิบายเรื่องของการกำเนิดของสิ่งที่เรียกว่า “เหตุผลของรัฐ” (Raison d’Etat) ซึ่งฟูโกต์ใช้เวลาในประเด็นนี้มากอย่างน้อยถึงสามสัปดาห์ติดกันในการพยายามจะชี้ถึงนิยามและความเป็นมาของประวัติศาสตร์ ก่อนที่จะสรุปและพูดถึงสิ่งที่เรียกว่า “อำนาจการบังคับใช้” (police) ในตอนท้ายสุดของการบรรยายในปีนั้น ซึ่งในปีถัดมาจะฉายภาพที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม และภาพดังกล่าวนี้จะถูกเชื่อมโยงเข้ากับวิธีคิดของเสรีนิยมใหม่ (neo-liberalism) อย่างชัดเจน

นิยาม เหตุผลของรัฐ

ฟูโกต์เองนิยามเหตุผลของรัฐ โดยเริ่มต้นจากประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องและตัวบทของบุคคลต่างๆที่แวดล้อมคำนิยามนั้น แต่ในนิยามหลักของฟูโกต์นั้น สามารถสรุปออกมาได้เป็นสี่ประเด็น ดังนี้

  1. Raison d’Etat (Reason of the State) ไม่ได้มีกรอบการอ้างอิงใดๆที่นอกเหนือไปจากตัวรัฐเอง ไม่มีการอ้างอิงไปถึงสิ่งที่เหนือธรรมชาติ ไม่มีการอ้างอิงระเบียบธรรมชาติหรือแม้กระทั่งเทวสิทธิ์ อาจกล่าวได้ว่า เหตุผลของรัฐนั้นเป็นสิ่งที่ “จบในตัวเอง” และไม่สามารถมีการเถียงใดๆได้ เพราะเหมือนกับกรณีพระผู้เป็นเจ้าที่เหตุผลของพระผู้เป็นเจ้า “ย่อมจบ” ในตัวพระผู้เป็นเจ้า
  2. เหตุผลของรัฐ (Raison d’Etat) เป็นสิ่งที่เกี่ยวพันกับความรู้ เหตุผลของรัฐเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของรัฐ (essence of the state) และเป็นความรู้ที่ทำให้เราต้องปฏิบัติตามและไม่สามารถแข็งขืนได้ ในเวลาเดียวกันมันก็เป็นศิลปะ เพราะเป็นเรื่องของ “ศาสตร์แห่งการปกครอง”
  3. เหตุผลของรัฐมีตรรกะที่เป็นไปเพื่อความมั่นคง มีตรรกะเพื่อปกป้องสภาพของรัฐมิให้ถูกทำลาย ให้มีความมั่นคงสูง (integrity)
  4. เหตุผลของรัฐเป็นสิ่งที่ทำไปเพื่อตัวรัฐเอง เพื่อความดีของตัวรัฐเอง และที่สำคัญคือเป็นสิ่งที่เป็น “ปลายเปิดทางประวัติศาสตร์” คือ ไม่มีวันจบและไม่มีวันสิ้นสุด
     

คุณสมบัติทั้งสี่ประการนี้เป็นเสมือนหนึ่งของการฉายภาพสิ่งที่เรียกว่า “Raison d’Etat” หรือ เหตุผลของรัฐได้อย่างชัดเจน โดยการให้ลักษณะของเหตุผลของรัฐนั้น ฟูโกต์ได้ใช้นิยามของ Palazzo[2] ซึ่งเป็นนักคิดชาวอิตาลีในการตรวจสอบนิยามในช่วงเวลานั้นที่ให้กำเนิดนิยามของเหตุผลของรัฐ

ฟูโกต์อธิบายว่า Raison d’Etat ประกอบด้วยสองส่วน คือ ส่วนของเหตุผล (Raison) และส่วนของรัฐ (Etat) ซึ่งฟูโกต์ได้อธิบายไว้ดังนี้]

เหตุผลนั้น มีอยู่สองด้าน ด้านแรก เหตุผลในฐานะ “แก่นแท้ทุกอย่างของสรรพสิ่งที่สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียว การรวมกันของทุกๆส่วน และมันเป็นตัวเชื่อมที่จำเป็นระหว่างสิ่งต่างๆเพื่อให้เกิดการสร้างของสรรพสิ่ง”[3] ส่วนในอีกด้านหนึ่งนั้น เหตุผลในฐานะที่เป็นเรื่องอัตตวิสัย คือการที่จะทำให้เข้าถึงสิ่งจริงแท้ต่างๆ และเป็นวิถีทางของความรู้ ดังนั้นแล้ว การอธิบายของฟูโกต์ในแง่เหตุผลวิธีนี้ ถึงถูกผูกโยงเข้ากับความรู้

ส่วนรัฐ ฟูโกต์ใช้นิยามของ Palazzo อีกเช่นกัน โดยการกล่าวถึงคำว่า “State” ในความเข้าใจสี่ส่วนคือ หนึ่ง ในฐานะที่มีพื้นที่/ขอบเขต (domain) สอง ในฐานะที่เป็นชุดของกฎหมาย สถาบัน ระเบียบ ประเพณี และอื่นๆ สาม “state” ในฐานะเป็นเงื่อนไขของชีวิตที่จะต้องมีสถานะต่างๆ และสุดท้ายคือสถานะหรือสภาพที่ดำรงอยู่และยังคงต้อดำรงต่อไป เมื่อฟูโกต์เข้ามาปรับใช้กับรัฐ จึงมีสิ่งที่เรียกว่า “พรมแดน”, “ประชาชน” (วัดจากสถานะของบุคคลที่อยู่ภายใต้รัฐ), “การปกครอง/รัฐบาล”, “การรักษาความมั่นคง” หรือ อำนาจอธิปไตย ซึ่งสี่สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เป็นพื้นฐานที่สุดของรัฐสมัยใหม่ในปัจจุบัน

ฟูโกต์พยายามชี้ว่า มันไม่มีความสำคัญอีกต่อไปที่เราจะต้องถามว่าสิ่งเหล่านี้นั้นเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อใด เพราะที่สุดแล้ว Raison d’Etat ไม่เคยอ้างอิงถึงที่มา ฟูโกต์กล่าวอย่างชัดเจนว่า “พวกเราเข้ามาอยู่ในโลกของการปกครอง เหตุผลของรัฐ และรัฐ มาตลอดแล้ว”

จากวิวาทะระหว่างภูมิปัญญาโบราณกับภูมิปัญญาสมัยใหม่สู่เหตุผลของรัฐ: การเปลี่ยนแปลงของกรอบคิด

อย่างไรก็ดี คำอธิบายเรื่องของเหตุผลของรัฐนั้นเป็นสิ่งที่มีประวัติศาสตร์และบริบทที่เกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในช่วงสมัยยุคกลาง คำอธิบายเรื่องรัฐที่มีประสิทธิภาพที่สุดอันหนึ่งคือคำอธิบายของ St. Thomas Aquinas ที่อธิบายเรื่องของความจำเป็นที่จะต้องมีสถาบันกษัตริย์อยู่ปกครองรัฐ แน่นอนว่าการอธิบายเช่นนี้เป็นการอธิบายที่ได้รับอิทธิพลจากคริสตศาสนาอย่างชัดเจนภายใต้บทบาทการเข้ามีอิทธิพลของคริสตศาสนาในช่วงเวลานั้น การอธิบายรัฐแบบของ Aquinas นั้นได้อ้างหรืออาศัยอยู่บนการเทียบเคียงกับ “พระเจ้า” (God) เป็นหลัก โดยการอธิบายว่าพระราชานั้นมีหน้าที่เสมือนหนึ่งดั่งเป็นพระเจ้าผู้ที่ปกครองสภาพธรรมชาติเช่นเดียวกับกษัตริย์ที่ปกครองบ้านเมือง กษัตริย์ในฐานะผู้เป็นศูนย์กลางที่ทำการรวบรวมทำให้บ้านเมืองเป็นปึกแผ่น และกษัตริย์ในฐานะผู้ที่จะนำพาไปสู่ชีวิตอันเป็นนิรันดร์ในดินแดนของพระผู้เป็นเจ้าอันจะนำไปสู่ความสุขโดยรวม[4]การอธิบายเช่นนี้นั้นก็มีผลในอีกแง่หนึ่งคือการที่รัฐต่างๆนั้นถูกรวมตัวกันอยู่ภายใต้อาณาจักรหรือจักรวรรดิทางศาสนา[5]ก็เพื่อนำไปสู่ความเป็นปึกแผ่นภายใต้ร่มเงาของศาสนา

การอธิบายเช่นนี้จะเห็นได้ว่ามีการอธิบายในเชิงกึ่งเทวสิทธิ์ การอธิบายเช่นนี้ทำให้รัฐมีความชอบธรรมที่จะดำรงอยู่ แต่การกล่าวอ้างเช่นนี้ได้หมดและสลายไปในราวคริสตศตวรรษที่ 16 ด้วยการเจริญเติบโตของแนวความคิดแบบสมัยใหม่ที่อิงฐานบนวิทยาศาสตร์เป็นหลัก อันเป็นผลกระทบจากการวิวาทะระหว่างภูมิปัญญาสมัยใหม่กับภูมิปัญญาโบราณ (The Quarrel Between ancient and moderns)[6] และด้วยสิ่งเหล่านี้เอง ทำให้รัฐในยุโรปนั้นเกิดกระบวนการในการปรับตัวที่จะแสวงหาคำอธิบายให้กับรัฐในรูปแบบใหม่ ซึ่งในช่วงระยะเวลาก่อนการปรับเปลี่ยนไปสู่คำอธิบายใหม่ ก็มีความพยายามที่จะอธิบายว่าพระผู้เป็นเจ้านั้นไม่ได้ปกครองอย่างที่เราคิด เพียงแต่พระผู้เป็นเจ้านั้นปกครองในหลักการใหญ่ๆเท่านั้น ซึ่งกลายเป็นว่าคำอธิบายเหล่านี้ก็หมดพลังไปในราวปลายคริสตศตวรรษที่ 16 ต่อต้นคริสตศตวรรษที่ 17 นั่นเอง

เมื่อการอธิบายรัฐทั้งแบบ Aquinas และแบบที่ยังไม่ปฏิเสธพระผู้เป็นเจ้ามากนักได้สูญสลายตัวเองลงไป ความพยายามในการอธิบายรัฐแบบใหม่ก็เกิดขึ้น ในช่วงเวลานี้เองที่การเติบโตของคริสตศาสนานิกายโปรแตสแตนได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ซึ่งในส่วนนี้จะเข้ามากล่าวในภายหลัง แต่การเติบโตของนิกายดังกล่าวนี้มีผลโดยตรงต่อการสั่นสะเทือนเป้าหมายของการรวมรัฐเพื่อเข้าไปสู่เป้าหมายนั่นก็คือดินแดนของพระผู้เป็นเจ้า เมื่อเกิดลักษณะดังกล่าวขึ้น รัฐต่างๆจึงเริ่มต้นสร้างเอกลักษณ์ของตนเอง ในที่สุดก็นำไปสู่ความคิดในการสร้างสิ่งที่เรียกว่า “ยุโรป” ขึ้นมาในภายหลัง ซึ่งเรื่องนี้ก็จะกล่าวถึงในภายหลังเช่นกัน แต่ความพยายามที่จะอธิบายรัฐแบบใหม่นั้นก็เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับที่คำอธิบายชุดเดิมนั้นหมดพลังลงไป จากแนวคิดเรื่องของ res publica หรือ State นั่นเอง

การมาถึงของแนวคิดในเรื่อง State ในฐานะที่มันเป็นสิ่งที่ว่าด้วยเรื่องของการปกครองที่มิได้อ้างอิงอยู่บนฐานของพระผู้เป็นเจ้าและธรรมชาตินั้นเกิดขึ้นพร้อมกับคำถามที่มาด้วยเรื่องที่ว่า อะไรคือศิลปะของการปกครอง (What is the art of government?) ซึ่งกลายมาเป็นคำถามในราวปลายคริสตศตวรรษที่ 16 การมาถึงของคำถามนี้ทำให้เกิดกระบวนการในการตอบคำถามเรื่องของอำนาจอธิปไตยและการปกครอง ซึ่งนำมาสู่หลักการบางประการซึ่งก็คือการใช้เหตุผล และในที่สุดก็นำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า “เหตุผลของรัฐ” (Raison d’Etat) การวิวาทะระหว่างภูมิปัญญาโบราณกับภูมิปัญญาสมัยใหม่ได้นำไปสู่เรื่องของความเชื่อในเหตุผลของมนุษย์โดยที่ปฏิเสธความเป็น telos แบบศาสนานั้นก็ทำให้เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าว ความพยายามในการสรรหาคำอธิบายต่างๆเพื่อตอบสนองการมีของรัฐนั้นจึงไม่สามารถอ้างอิงอยู่บนฐานความเชื่อแบบเดิมได้ “เหตุผลของรัฐ” จึงอุบัติขึ้นในฐานะคำอธิบาย บนฐานคิดที่ว่ารัฐนั้นเป็นองค์กรที่ครอบงำประชาชน

State is a firm domination over peoples.

Botero

การเกิดเหตุผลของรัฐเช่นนี้จึงเป็นการเริ่มต้นของรัฐสมัยใหม่ นั่นก็เพราะไม่ใช่เพียงแค่ปฏิเสธเหตุผลแบบเทวสิทธิ์และการมี telos แบบเดิมเท่านั้น แต่การเกิดขึ้นของสิ่งที่เรียกว่าเหตุผลของรัฐนั้นเป็นการเริ่มต้นในประเด็นในสองเรื่อง คือ สถาบัน (institution) และ ประชาชน (population) จากนิยามที่ถูกกำหนดขึ้น การกำเนิดขึ้นของนิยามนี้นำไปสู่อีกสองสิ่งที่เหลือในความเข้าใจของรัฐสมัยใหม่ นั่นคือ เขตแดน (territory) และอำนาจอธิปไตย (sovereign) ซึ่งสำหรับอำนาจอธิปไตยนั้นเป็นเรื่องที่ทั้งสามอย่างนั้นมาประกอบรวมเข้าด้วยกันในรัฐหรือสาธารณรัฐ (Republic)

ภายในตรรกะของเหตุผลของรัฐไม่ได้เป็นอะไรมากกว่าสิ่งที่เรียกว่า “ความมั่นคง” เพราะตัวรัฐสมัยใหม่นั้นมีโครงสร้างที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน รัฐสมัยใหม่นั้นไม่ได้มีเป้าประสงค์ที่จะนำไปสู่ความสมบูรณ์พูนสุขในดินแดนของพระผู้เป็นเจ้า แต่รัฐสมัยใหม่นั้นทุกอย่างต้องจบที่ตัวรัฐเอง เมื่อทุกอย่างจบที่ตัวรัฐเอง เหตุผมของรัฐจึงกลายมาเป็นเหตุผลเชิงเครื่องมือ (instrumental rationality) ในการที่จะทำให้รัฐดำรงคงอยู่ เหตุผลของรัฐจึงมีหน้าที่ในการทำให้รัฐอยู่รอด ทำให้รัฐดำรงอยู่ได้ และแน่นอนว่าเมื่อเป็นเช่นนี้ เหตุผลของรัฐจึงมีอำนาจและมีประสิทธิภาพมากเพียงพอที่จะทำให้ทุกคนต้องสยบอยู่ภายใต้พื้นที่ของรัฐ เพราะหากไม่ยอมสยบอยู่ภายใต้เหตุผลของรัฐแล้ว ก็จะถือว่าสิ่งดังกล่าวมีภัยต่อความมั่นคงและจำเป็นที่จะต้องถูกกำจัด

อย่างไรก็ตามแม้ว่าเหตุผลของรัฐจะเป็นการแสดงตัวตนของรัฐที่อย่างน้อยที่สุดก็ยังอยู่ภายใต้สิ่งที่เรียกว่า “กฎหมาย” เพราะฉะนั้นในแง่นี้ เหตุผลของรัฐจึงถูกจำกัดอยู่ในระดับหนึ่ง แต่เมื่อใดก็ตามที่รัฐต้องการแสดงตัวที่เหนือกฎหมาย เนื่องมาจากการที่รัฐมองว่ากำลังเกิดภัยคุกคามกับรัฐเอง (เช่น การบั่นทอนสภาพภายในรัฐ) จะเกิดสิ่งที่เรียกขึ้นว่า “รัฐประหาร” (Coup d’Etat) ในฐานะที่เป็นหนึ่งในเหตุผลของรัฐที่ถูกนำขึ้นมาใช้

การรัฐประหารนั้นเกิดขึ้นเพราะเนื่องจากว่ารัฐนั้นถูกคุกคาม และมีความจำเป็นที่รัฐต้องแสดงตนเองโดยผ่านอำนาจที่เด็ดขาด รวดเร็ว มีพลัง และผู้คนต้องให้การยอมรับ รัฐประหารนั้นคือการใช้เหตุผลของรัฐที่รุนแรง และไม่อ้างอิงอยู่บนฐานของกฎหมายใดทั้งสิ้น เป็นการแสดงตัวตนของรัฐออกมาด้วยวีการรุนแรง แต่ก่อนหน้านั้นก็จะต้องมีกระบวนการเช่นการปล่อยข่าวลือ การบั่นทอนความชอบธรรม และการเตรียมกองกำลังอย่างเงียบเชียบ และเริ่มต้นทำรัฐประหารทันทีในยามกลางคืนที่รวดเร็วประดุจสายฟ้า ในแง่นี้การรัฐประหารจึงเป็นการกวาดล้างศัตรูที่ไม่เป็นมิตรต่อรัฐไปในตัว[7]ทั้งหมดทำไปเพราะความจำเป็นในสายตาของรัฐ มิเช่นนั้นรัฐก็ไม่สามารถดำรงอยู่ได้

เมื่อเป็นเช่นนี้ รัฐจึงจำเป็นที่จะต้องเข้าไปสอดแทรกในทุกส่วนของประชาชน และรัฐก็จำเป็นที่จะต้องตรวจสอบและตรวจตราประชาชนเพื่อหาสัญญาณและความผิดปกติต่างๆ การเกิดขึ้นของวิชาสถิติ (statistics) จึงเกิดขึ้นเพราะต้องการที่จะตรวจสอบประชาชน และเป็นสิ่งที่อธิบายสภาพของรัฐในสภาพจริงที่เกิดขึ้น รัฐจึงต้องใช้ข้อมูลทางสถิติเหล่านี้ในการวางแผนและสร้างนโยบายหรือขอบเขตต่างๆให้กับรัฐเองในการที่จะจัดการกับประชาชน

การเติบโตของยุโรป สงคราม และการเปลี่ยนแปลงตนของรัฐ

สภาพรัฐที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ ทำให้เริ่มมีการปฏิเสธสภาพของจักรวรรดิหรืออาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Roman Empire) และในที่สุดสนธิสัญญา Westphalia ก็กำเนิดขึ้นภายใต้การปฏิเสธเรื่องของศาสนา ศาสนาไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐอีกต่อไป แต่หากเป็นเรื่องของการยอมรับในการมีอยู่ของรัฐต่างๆที่เกิดขึ้น และปฏิเสธไม่ได้ Raison d’Etat นั้นสิ่งหนึ่งที่มีคือการขยายตัวเองตลอดเวลา เมื่อเป็นเช่นนี้รัฐจึงต้องเอาตัวลงเข้าไปอยู่ภายในการเมืองและการขยายฐานทางเศรษฐกิจ อันนำไปสู่การแสวงหาดินแดนใหม่ๆผ่านทางการค้า (แบบที่รัฐไทยเป็น) เพราะเนื่องจากการกำเนิดของสนธิสัญญาดังกล่าว นำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า “การแข่งขันระหว่างรัฐ” ตัวอย่างที่เจอคือการเข้าไปมีอิทธิพลของสเปนเหนือโปรตุเกส

เมื่อสภาพดังกล่าวเกิดขึ้น ความคิดในเรื่องของผลประโยชน์ของเจ้าผู้ปกครองหรือราชวงศ์แต่เดิมนั้นก็ถูกความคิดและเปลี่ยนถ่ายเทไปสู่เรื่องของผลประโยชน์ของรัฐ ผลประโยชน์สาธารณะ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว การเจรจาระหว่างรัฐต่างๆจึงถูกถ่ายโอนไปสู่พื้นที่ของสาธารณะ รัฐต่างๆกลายสภาพจาก Personal State ไปสู่ Impersonal Stateและสิ่งเหล่านี้ไปได้ถ่ายเทจากการแข่งขันของราชวงศ์ต่างๆไปสู่การแข่งขันระหว่างรัฐนั่นเอง การมาถึงของสนธิสัญญา Westphalia ได้เปิดช่องทางการแข่งขันระหว่างรัฐ ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแปลงจากจักรวรรดิคริสตศาสนามาสู่ยุโรปแต่เพียงอย่างเดียว

รัฐต่างๆจึงจำเป็นที่จะต้องเริ่มทำการขยับขยายกองกำลังของตนเอง สนธิสัญญา Westphalia ได้ก่อให้เกิดลักษณะที่เรียกว่าสภาพสมดุลของยุโรป การขยายพื้นที่และดินแดนจึงเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นการขยายดินแดนและการค้าจึงกระจายตัวไปผ่านการแสวงหาดินแดนอาณานิคมหรือรัฐที่อยู่ในพื้นที่ชายขอบเช่นรัฐไทย เพราะในสภาพของยุโรปนั้นเป็นสภาพที่ทุกอย่างนั้นเริ่มจะเข้าที่เข้าทาง

ความคิดในเรื่องยุโรปนั้นเป็นความคิดที่เข้ามาแทนที่ความคิดแบบจักรวรรดิคริสตศาสนาแบบเดิมที่เสื่อมสลายลง มีการวางพื้นที่และเขตแดนอย่างชัดเจนจากเดิมที่เป็นคริสตศาสนาที่มีความคิดจะครอบงำโลกทั้งใบ อย่างไรก็ดีความคิดในการครอบครองโลกทั้งใบนี้ก็ถูกเปลี่ยนพรมแดนจากความคิดในประเด้นศาสนา เพราะคำอธิบายของศาสนานั้นหมดพลังลงไป ไปสู่วิธีคิดเรื่องของการค้าและการมีดินแดนเมืองขึ้นในครอบครอง สภาพของยุโรปเป็นสภาพแบบพหุนิยมเพราะรัฐต่างๆนั้นจะเข้าไปทำสงครามเพื่อยึกเอาดินแดนในยุโรปแบบแต่ก่อนไม่ได้ เพราะหากจะมีสงคราม สงครามนั้นก็เป็นไปเพื่อการรักษาสมดุลหรือกดุลยภาพของยุโรป ไม่ใช่เพื่อการขยายตัวของรัฐ การกล่าวเช่นนี้เป็นการปฏิเสธว่าเรื่องเหล่านี้ เช่น การมีทูต การทำสงครามนั้นไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ชึ่งไม่ใช่ แต่กระบวนการต่างๆเหล่านี้ถูกวางและจัดระบบให้เป็นยุทธศาสตร์เมื่อการเกิดขึ้นของรัฐสมัยใหม่นั้นได้ก่อตัวขึ้น

ดังนั้นแล้วการเปลี่ยนแปลงของรัฐนั้นไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงเพราะเนื่องจากเหตุผลของสงครามหรือการค้า แต่เป็นเหตุผลที่เกี่ยวเนื่องกับการเปลี่ยนแปลงความคิดเชิงศาสนา ผสมกับความเปลี่ยนแปลงในเรื่องระบบวิธีคิดและการให้เหตุผล ในที่สุดก็นำไปสู่เรื่องของการเปลี่ยนแปลงรัฐและรูปแบบวิธีการที่รัฐนั้นจัดการกับผู้คนตลอดจนถึงการแข่งขันระหว่างรัฐ การทำสงครามเป็นไปเพื่อการรักษาสมดุล การค้าลักษณะพาณิชย์นิยม (mercantilism) ดำเนินไปในฐานะของการจัดการทางสังคมที่ตอบสนองกับเหตุผลของรัฐ[8]ไม่ใช่เพียงแค่การแลกเปลี่ยนเท่านั้น

ทฤษฎีรัฐประหารและคำนิยาม

ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า ทฤษฏี Coup d’Etat หรือ รัฐประหารนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายใต้เหตุผลของความมั่นคงและรัฐเริ่มรู้สึกว่ามีอันตรายเกิดขึ้นอยู่ สำหรับฟูโกต์แล้ว การรัฐประหารนั้นถือเป็น “แก่น” ของเหตุผลของรัฐ เพราะเนื่องจากเป็นการแสดงออกของรัฐที่มีความเฉียบขาดและเด็ดขาดที่สุด

ฟูโกต์ชี้ว่า การรัฐประหารนั้นถูกให้นิยามในช่วงต้นศตวรรษที่ 17 ว่าเป็น “การหยุดชั่วคราว หรือ การออกจากการใช้กฎหมายและบรรทัดฐานทางกฎหมายเป็นการชั่วคราว” กล่าวได้ว่า การรัฐประหารคือการอยู่เหนือกฎหมายทั่วไป ซึ่งตรงนี้ฟูโกต์ได้ชี้ว่า ในงานของ Chemnitzนั้น เหตุผลของรัฐมิใช่เพียงแค่สิ่งที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย แต่ถ้าหากจำเป็นนั้นก็มีความต้องการที่จะต้อง “สั่งการทางกฎหมายด้วยตัวรัฐเอง เพื่อที่จะปรับใช้กับสถานการณ์ปัจจุบันในรัฐ”[9] ฟูโกต์จึงชี้ให้เห็นว่า รัฐประหารนั้นเป็นสิ่งที่อยู่ภายใต้กระบวนการเหตุผลของรัฐนั่นเอง

แล้วความแตกต่างระหว่าง เหตุผลของรัฐ กับ รัฐประหาร ต่างกันอย่างไร? เหตุผลของรัฐนั้นเป็นสิ่งที่มีความเคารพต่อกฎหมายที่มีอยู่ในสาธารณะ เมื่อการกระทำทางสาธารณะนั้นเกิดขึ้น ในแง่นี้ขอให้นึกถึงสิ่งที่เรียกว่า “คำสั่งทางปกครอง” เอาไว้ เพราะการกระทำที่ผิดวิธีทางปกครองย่อมจะถูก “ศาลปกครอง” เอาขึ้นไปพิจารณาได้เช่นกัน

แต่สำหรับรัฐประหารนั้นมีคุณสมบัติอยู่ที่ว่า เมื่อกฎหมายต่างๆใช้ไม่ได้ผลและถือเป็นการเร่งด่วนอย่างมากที่จะต้องจัดการกับสถานการณ์บางอย่าง รัฐจะต้องปลดเปลื้องข้อจำกัดเหล่านี้ สิ่งที่เรียกว่า “เหตุผลของรัฐ” จะถูกขจัดออกไป เหลือแต่เพียงสิ่งที่เรียกว่า “ความภักดีต่อรัฐ” (salvation of the state) ทั้งหมดนี้กระทำไปเพื่อ “ปกป้องรัฐ”

ข้อสรุปที่ง่ายที่สุดของฟูโกต์ที่มีต่อรัฐประหาร คือ “…เป็นการกระทำที่รัฐกระทำเองเพื่อตัวเอง รวดเร็ว ทันที ไม่มีกฎเกณฑ์ ด้วยความเร่งด่วน จำเป็น และ ถาโถม”[10] ดังนั้นแล้วการรัฐประหารมิได้แปลว่าเป็นการประหารรัฐ ซึ่งในทัศนะของ รศ.ธเนศ นั้น การประหารรัฐถือเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะในเชิงของปรัชญาการเมือง ตั้งแต่การเติบโตของปรัชญาการเมืองที่เริ่มต้นจาก Thomas Hobbes นั้น รัฐก็ไม่ใช่รัฐแบบรัฐส่วนบุคคล (Personal State) อีกต่อไป[11]

ฟูโกต์ชี้ว่า การทำรัฐประหารนั้น เป็นการแสดงตัวตนของรัฐภายใต้เหตุผลว่ารัฐจะต้องถูกรักษาเอาไว้ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตาม “การรัฐประหารจึงเป็นการแสดงสิทธิ์ของเหตุผลของรัฐ และเป็นการประกาศตัวตนของรัฐด้วยตัวเอง”[12] ความจำเป็นของรัฐจึงใหญ่กว่ากฎหมาย และกฎหมายนั้นจะต้องเปิดทางให้กับรัฐในการจัดการกับสิ่งต่างๆ[13]

คุณสมบัติอีกประการหนึ่งคือเรื่องของความรุนแรง การใช้ความรุนแรงเข้าจัดการกับปัญหานั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในรัฐประหาร กรณีของฝรั่งเศสนั้นคือการจัดการกับศัตรูทางการเมืองในสมัยที่บาทหลวง Richelieu มีอำนาจ[14]นอกจากนั้นแล้วรัฐประหารจะต้องกระทำอย่างทันที และจะต้องมีเหตุผลที่สร้างความชอบธรรมให้กับการทำรัฐประหาร การดำเนินการของรัฐประหารนั้นจะต้องเป็นไปอย่างลับๆ เงียบๆ แต่เมื่อพร้อมก็จะแสดงตัวออกมาแทบจะทันทีโดยที่ไม่ได้ให้โอกาสในการตั้งตัว และพร้อมๆกันก็มีข้อเสนอที่ชอบธรรมทันทีที่ประชาชนสามารถยอมรับได้

คำพูดที่เป็นรูปธรรมของการรัฐประหารที่ชัดเจนที่สุดคือคำพูดของ Naude ที่ฟูโกต์ได้นำเอามาอ้างถึง นั่นคือ “… ด้วยรัฐประหาร เราจะเห็นฟ้าผ่าก่อนที่จะได้ยินเสียง”[15] โดยการรัฐประหารนั้นจะมาในช่วงเวลาที่มีคนคาดคิดน้อยที่สุดว่าจะมี สัญญาณที่บ่งชี้ว่ารัฐประหารจะมีขึ้นได้หรือไม่นั้นต้องดูที่ หนึ่ง การสร้างข่าวลือที่ต่อต้านรัฐและคนที่กำลังปกครองอยู่ สอง มีความพยายามในการตีความหรือประเมินค่าการกระทำทุกอย่างให้เลวร้ายไปทั้งหมด ไม่ว่าการกระทำนั้นจะดีเพียงใด สาม การออกคำสั่งนั้นเป็นไปได้อย่างยากลำบากโดยชี้ชัดจาก การตอบรับของคำสั่ง และ การที่พยายามตีความคำสั่งของผู้ปฏิบัติงานซึ่งแปลกไปจากเดิม นอกจากนั้นแล้ว การแข็งขืนต่อผู้บังคับบัญชาแล้ว ยังเป็นเรื่องของการสนับสนุนจากประมุขของรัฐที่มีการสนับสนุนฝ่ายหนึ่งเหนืออีกฝ่ายอย่างชัดเจน

กล่าวโดยสรุป ในทัศนะของฟูโกต์ การทำรัฐประหารคือการแสดงตัวของรัฐที่ไม่ผูกพันกับกฎหมาย โดยมีการแสดงตัวและประกาศตัวเองทันที มีความรุนแรง การประกาศใช้กฎหมายทั้งหมดถูกยกเลิก และการกระทำดังกล่าวจะต้องรวดเร็ว สร้างความชอบธรรม แต่ระหว่างก่อนกระทำนั้นจะต้องกระทำด้วยความเงียบสงบ ใช้วิธีปล่อยข่าวลือ การขัดขืนของคน และการเลือกของประมุขของรัฐ ทั้งหมดนี้อาจกล่าวได้ว่า รัฐประหารคือเหตุผลของรัฐที่ไม่ผูกกับกฎหมาย ไม่มีกฎเกณฑ์ใดบังคับ และใช้อำนาจด้วยความรวดเร็วและรุนแรง

คำสรุปที่อาจจะสั้นที่สุดคือคำสรุปของ ธเนศ วงศ์ยานนาวา ที่สรุปว่า

นี่เป็นเรื่องของความ “จำเป็น” เพราะเมื่อมีอันตรายแล้วก็ไม่ต้องมานั่งคิดว่าอะไรเหมาะหรือไม่เหมาะ ถูกหรือไม่ถูก “การรักษาตัวรอดเป็นหน้าที่เก่าที่สุด… รัฐประหารจึงไม่ใช่เรื่องที่จะต้องมานั่งพูดกันว่าเหมาะหรือไม่เหมาะ เรื่องที่ต้องพูดก่อนที่จะทำคือ ทำแล้วสำเร็จหรือไม่ต่างหาก[16]

ธเนศ วงศ์ยานนาวา

บริบททางประวัติศาสตร์ของทฤษฏีการรัฐประหาร

ธเนศ วงศ์ยานนาวา ได้เสนอเรื่องของที่มาของทฤษฏีรัฐประหาร ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงในฝรั่งเศสสมัยที่บาทหลวง Richelieu ได้จัดการกับศัตรูทางการเมืองในช่วงศตวรรษที่ 17 ที่เรียกกันว่า “the day of the Dupes” ซึ่งในช่วงเวลานั้นมีการถกเถียงกันมากในประเด็นดังกล่าว โดยมีงานเขียนออกมาสนับสนุนการทำรัฐประหารจากปัญญาชนจำนวนหนึ่งในเวลานั้น[17]

เหตุการณ์ the day of the Dupes เป็นเหตุการณ์เมื่อราวปีคริสตศักราช 1630 ที่ฝ่ายต่อต้านบาทหลวง Richelieu (ซึ่งตัว Richelieu เป็นหัวหน้าคณะรัฐมนตรีของพระเจ้าหลุยส์ที่ 13) นั้น คาดว่าพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 นั้นได้ปลดตัว Richelieu ออกจากตำแหน่ง ซึ่งมาจากความขัดแย้งระหว่างภายในราชวงศ์กับตัวบาทหลวง Richelieu เอง แต่ในที่สุดพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 ได้ให้การสนับสนุนให้ Richelieu อยู่ในตำแหน่งต่อ และเมื่อเป็นเช่นนั้นจึงได้จัดการกับศัตรูทางการเมืองทั้งหมด

Naude ซึ่งเป็นปัญญาชนที่ดูแลห้องสมุดของ Richelieu นั้นได้เขียนหนังสือชื่อเรื่อง “Consideration Politiques sur les coups d’etat” เพื่อสนับสนุนการกระทำดังกล่าวนั้น โดยมองว่าเป็นเรื่องของการปกป้องรัฐและถือเป็นหน้าที่ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงศีลธรรม ดังนั้นแล้วในสายตาของ Naude จึงมองว่าเป็นการกระทำเพื่อผลประโยชน์ของสาธารณะ[18]

การปกครองชีวญาณ: นิยาม และ การดำเนินการ

หนึ่งในแนวคิดที่สำคัญของฟูโกต์ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมาก คือแนวคิดที่เรียกว่า “การปกครองชีวญาณ” (Governmentality) อันเป็นแนวคิดที่ว่าด้วยเรื่องของการปฏิบัติการของรัฐสมัยใหม่ที่มีต่อการปกครองประชาชนในระดับที่เน้นลงลึกถึงรายละเอียดต่างๆ

ฟูโกต์นั้นสรุปลักษณะของการปกครองชีวญาณในภาพรวมใหญ่ เอาไว้สามประการดังนี้[19]

  1. เป็นการรวมกันของสถาบัน ขั้นตอน การวิเคราะห์และการสะท้อน การคำนวณ และวิธีการ ที่จะทำให้การใช้อำนาจอันซับซ้อนและเฉพาะเจาะจง ที่มีเป้าหมายอยู่ที่ประชาชน เป็นไปในรูปแบบของเศรษฐศาสตร์การเมืองในฐานะความรู้ และความมั่นคงในฐานะที่เป็นเครื่องมืออันจำเป็นในการที่จะทำให้การกระทำดังกล่าวสำเร็จ
  2. เป็นความโน้มเอียงในเชิงอำนาจที่มีมานานโดยเฉพาะในตะวันตก ที่นำไปสู่ความโดดเด่นเหนือกว่าอำนาจทั้งปวง (อำนาจอธิปไตย, ระเบียบวิธีทางความรู้ (discipline) และอื่นๆ) กล่าวคือ เป็นอำนาจในการปกครองทั้งหมด และทำให้พัฒนาไปสู่เครื่องมือทางการปกครองที่มีความเฉพาะเจาะจงในด้านหนึ่ง และการพัฒนาในชุดความรู้ทางการปกครองอีกด้านหนึ่ง
  3. เป็นความเข้าใจในกระบวนการหรือผลของกระบวนการที่ความยุติธรรมของรัฐในช่วงยุคกลางนั้นเป็นรัฐที่มีการบริหารจัดการ โดยถูกแสดงออกมาในสิ่งที่เรียกว่า “รัฐบาล”

โดยสรุป กล่าวคือ การปกครองชีวญาณ เป็นแนวคิดที่ว่าด้วยเรื่องของการบริหารจัดการรัฐ ซึ่งรัฐจะทำการตรวจสอบและตรวจตราบุคคลต่างๆ ภายใต้ข้อบังคับเชิงสถาบันและกฎหมาย ที่จะทำให้รัฐเข้ามาเกี่ยวข้องในทุกมิติ ทั้งหมดนี้ใช้ผ่านรัฐบาล ภายใต้แนวคิดการบริหารเชิงเศรษฐศาสตร์

ในประเทศไทย คำว่า “Governmentality” มีผู้เสนอคำแปลที่หลากหลายมากมาย สุภางค์ จันทวานิช[20]เสนอว่าคำดังกล่าวควรแปลว่า “ศิลปะการปกครอง” (art of government) ซึ่งเป็นความหมายแต่ดั้งเดิมและถึงรากกำเนิดของ “Governmentality” ขณะที่ ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร[21]แปลว่า “การใช้อำนาจการปกครอง” ซึ่งน่าจะแปลมาจาก “government” + “ability” ส่วน ธเนศ วงศ์ยานนาวา แต่เดิมนั้นเมื่อแปลผลงานชิ้นดังกล่าว (Governmentality) นั้น เรียกว่า “ว่าด้วยการปกครอง”[22] แต่ระยะหลัง คำว่า Governmentality ถูกแปลเป็น “การปกครองชีวญาณ”[23] ซึ่งถูกให้เหตุผลว่ามาจากคำว่า “govern” + “mentality” ที่แปลว่า “การปกครองวิธีคิด” และในภายหลัง คำว่า “การปกครองชีวญาณ” นั้น ได้รับการยอมรับว่าเป็นคำแปลที่มีความตรงมากที่สุด และถูกยอมรับไปใช้ในผลงานต่างๆ เช่น หนังสือของ ชิเกฮารุ ทานาเบ[24]เป็นต้น

ความสัมพันธ์ระหว่าง การปกครองชีวญาณและเหตุผลของรัฐนั้นมีความเกี่ยวพันกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กล่าวคือ เหตุผลของรัฐเป็นเรื่องในเชิงแง่ตรรกะและภาพรวม แต่การปกครองชีวญาณนั้นเป็นสิ่งที่มารองรับและปฏิบัติการในเรื่องที่สนับสนุนเหตุผลของรัฐ ทำให้รัฐมีความชอบธรรมในการแทรกแซงบุคคล

บริบททางประวัติศาสตร์ของการปกครองชีวญาณ

ดังที่ได้ทราบไปจากบริบททางประวัติศาสตร์ของการกำเนิด “เหตุผลของรัฐ” (Raison d’Etat) แล้วว่าการเกิดขึ้นของเหตุผลของรัฐนั้นเป็นผลมาจากความพยายามในการปฏิเสธกรอบคิดทางปรัชญารูปแบบเดิม ในเวลาไล่เลี่ยกันนั้น การเกิดขึ้นของสิ่งที่เรียกว่า “การปกครองชีวญาณ” ก็ถือกำเนิดขึ้นในช่วงเวลาที่ใกล้กัน

ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 ปัญหาของการปกครองนั้นกลายมาเป็นปัญหาที่ผู้คนนั้นล้วนแล้วแต่ต้องการแสวงหาคำตอบ ดังจะเห็นได้ว่าในช่วงเวลานั้นมีงานเขียนประเภทนี้อยู่เยอะมาก โดยเฉพาะในงานที่เข้าข่ายลักษณะคำแนะนำให้กับเจ้าผู้ปกครอง สิ่งที่น่าสนใจคือว่าในช่วงเวลานั้น นอกจากการที่มีการย้อนกลับไปสู่ปรัชญายุค Stoicism แล้ว ยังมีเรื่องของปัญหาในคริสต์ศาสนา หน้าที่ของครูและการพัฒนาเด็กกับการปกครอง และการตั้งคำถามต่อการปกครองว่าควรจะดำเนินไปอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ระบบศักดินาเริ่มมีปัญหา คำถามที่ว่าเราจะใช้ชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ได้อย่างไร ทั้งหมดนี้กลายมาเป็นปัญหาที่ทำให้เกิดคำถามหลักๆว่า เราจะปกครองกันอย่างไร โดยใคร ใช้อำนาจอย่างไร เพื่ออะไร และวิธีใดกันแน่

หนึ่งในงานที่น่าสนใจช่วงเวลานั้นที่ต้องกล่าวถึงคืองานของ Machiavelli ที่มีชื่อว่า “เจ้าผู้ปกครอง” (The Prince) ซึ่งในทัศนะของฟูโกต์ งานชิ้นดังกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นถึงสายสัมพันธ์บางอย่างที่เป็นสายสัมพันธ์แบบสังเคราะห์ และเป็นสิ่งที่นอกตัว ระหว่างรัฐกับเจ้าผู้ปกครอง กล่าวคือ ตัวรัฐและเจ้าผู้ปกครองนั้นเป็นเอกเทศซึ่งกันและกัน การที่เจ้าผู้ปกครองสามารถมาครองรัฐได้นั้นก็เพราะเนื่องจากสายสัมพันธ์แบบพิเศษเหล่านี้ เช่น กฎหมาย การยึดครอง หรือแม้กระทั่งความเป็นคนในครอบครัวราชวงศ์ก็ตามที เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งสำคัญคือการรักษาเส้นสายสัมพันธ์บางๆนี้เอาไว้ มิให้แตกสลายลงไป เพราะสิ่งนี้มักจะมีคนที่อยากได้และครอบครองเสมอ ดังนั้นในสายตาของจึงต้องมีบางอย่างมาป้องกันไว้ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวขึ้น และสิ่งนั้นคือสิ่งที่เรียกว่า “ศิลปะแห่งการปกครอง”

แต่งานที่ถูกเขียนขึ้นออกมาตอบโต้กับ Machiavelli อย่างงานของ La Perrière[25] กลับมองว่าสิ่งที่เป็นศิลปะการปกครองจริงๆนั้นเป็นอีกอย่างหนึ่ง เพราะการนิยามของ La Perrière นิยามการปกครองไว้ค่อนข้างมีขอบเขตที่กว้างมากลงไปถึงในระดับของครอบครัว การถกเถียงกันระหว่างสองตัวบทนี้สะท้อนให้เห็นถึงการปกครองที่รูปแบบของการปกครองระหว่างเจ้ากับรัฐเป็นเพียงรูปแบบหนึ่งเท่านั้น มิใช่รูปแบบทั้งหมดของการปกครองที่ลงระเอียดไปถึงระดับครอบครัว

หลังจากนั้น La Moth Le Vayer จึงเสนอรูปแบบของการปกครองพื้นฐานไว้สามแบบ คือ การปกครองตนเอง ศิลปะของการปกครองครอบครัวที่ดีซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจ และศาสตร์ของการปกครองเพื่อสิ่งที่ดีของรัฐ ที่เกี่ยวพันกับการเมือง สิ่งที่ La Moth Le Vayer ชี้ให้เห็นนั้นคือศาสตร์ของการเมืองการปกครองนั้น มิใช่สิ่งที่เป็นเรื่องของ ศีลธรรม/จริยธรรม ล้วนๆ ขณะที่ก็ไม่ใช่เรื่องของเศรษฐศาสตร์ล้วนๆเช่นเดียวกัน[26]

งานของ Dauphin แสดงให้เห็นว่าการที่เจ้าผู้ปกครองมีการศึกษาที่ดีนอกจากจะรักษาสิ่งที่เรียกว่าความต่อเนื่องของการปกครองได้แล้ว ยังทำให้หน่วยเล็กที่สุดอย่างครอบครัวสามารถดำเนินไปได้ด้วยดี แม้กระทั่งตัวปัจเจกบุคคลที่จะกระทำการอันเป็นการสมควร การปกครองที่ดีที่มีผลต่อการจัดการครอบครัวหรือปัจเจกบุคคลนี้ถูกเริ่มเรียกว่า “police” ในเวลานี้ ซึ่งสิ่งที่อยู่ตรงกลางของสิ่งเหล่านี้คือเรื่องของ เศรษฐศาสตร์ ซึ่งเกี่ยวพันกับการปกครองภายในครอบครัว (เพราะหัวหน้าครอบครัวในฐานะผู้ทำมาหาเลี้ยงหรือ breadwinner คือการที่ต้องยุ่งเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจ) และการจัดการครอบครัวที่ดี การควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างถูกต้อง สิ่งเหล่านี้คือการนำเศรษฐศาสตร์ลักษณะเดียวกันนี้เข้าไปอยู่เป็นวิธีการปกครองของรัฐนั่นเอง ภายใต้นิยามของ Rousseau ที่นิยามว่า เศรษฐศาสตร์คือการปกครองที่ฉลาดของบ้านสำหรับความดีร่วมกันของครอบครัวโดยรวม ก็ทำให้ตรรกะนี้สามารถดำเนินไปได้ ปัญหาของ Rousseau คือทำอย่างไรเพื่อที่จะนำเอาลักษณะดังกล่าวนี้ไปใช้ได้ คือ ตรวจสอบทรัพยากรทั้งหมดและตรวจตราทั้งหมดเพื่อทำให้รัฐนั้นเฟื่องฟูนั่นเอง ในแง่นี้เศรษฐศาสตร์จึงเป็นเรื่องของการเมือง และเศรษฐศาสตร์จึงต้องเป็น เศรษฐศาสตร์การเมือง อีกด้านหนึ่ง เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ศิลปะของการปกครอง ก็ถูกแปลงโฉมและปรับเปลี่ยนด้วยความเชื่อในเชิงกึ่งวิทยาศาสตร์ สิ่งที่ได้ออกมาคือ “รัฐศาสตร์” (political science) เพื่อที่จะออกมารับใช้กับรัฐนั่นเอง

นอกจากนั้นแล้ว ในตัวบทของ La Perrière ยังพบถึงการสถาปนาความชอบธรรมของการปกครอง โดยกล่าวว่า การปกครองนั้นคือสิทธิที่จะจัดการกับสิ่งที่ไม่เรียบร้อยให้เป็นไปด้วยดีเพื่อที่จะนำไปสู่ผลที่เหมาะสมเหมาะควร ในแง่นี้ก็เท่ากับเป็นการเปิดช่องทางให้กับการปกครองในการที่จะแทรกแซงเข้ามาในทุกมิติของชีวิต Machiavelli ในเจ้าผู้ปกครอง ก็ได้แสดงถึงความสำคัญในส่วนนี้ตรงที่การจัดการเรื่องอำนาจอธิปไตยแต่เดิมนั้นอ้างอิงอยู่บนพื้นที่ของเขตแดนเพียงอย่างเดียว แต่ด้วยความที่พื้นที่เหล่านี้มีประชากรอยู่ ตรรกะรัฐประชาชาติจึงเปิดโอกาสให้สถาปนาประชากรเข้าเป็นส่วนหนึ่งในการใช้อำนาจอธิปไตย

การตรวจสอบประชาชนเหล่านี้จะกระทำได้อย่างไร? การที่จะใช้วิธีอะไรในการเข้ามาเพื่อมองว่าประชาชนมีกิจกรรมอะไรเพื่อที่จะทำให้รัฐสามารถวางแผนที่สอดคล้องเข้ากับหลักการทางเศรษฐศาสตร์การเมือง? สิ่งที่ถูกนำมาใช้คือ “สถิติ” หรือ Statistic ซึ่งมีรากศัพท์เดิมมาจากคำว่า status หรือ state ในภาษาละติน ดังนั้นสถิติ ซึ่งเป็นวิชาที่จัดเก็บข้อมูลนั้น คือศาสตร์ของรัฐ การเก็บตัวเลขสถิติเหล่านี้ทำให้ประชาชนในรัฐ ไม่รู้สึกว่าตนเองกำลังถูกควบคุม ติดตาม หรือจ้องมองตลอดเวลา และทำให้รัฐสามารถบริหารจัดการกับประชาชนในรัฐได้ในรูปแบบเศรษฐศาสตร์นั่นเอง

ทั้งหมดนี้ ถูกทำให้เป็นรูปธรรมและชัดเจน ผ่านสิ่งที่เรียกว่า “รัฐบาล” ในฐานะตัวแทนของการใช้อำนาจทั้งปวงเหล่านี้แทนรัฐ

ข้อสรุปของทฤษฏี

การเกิดตัวขึ้นของรัฐสมัยใหม่อันเป็นผลพวงจากการปฏิวัติวิทยาศาสตร์และการวิวาทะระหว่างภูมิปัญญาโบราณกับสมัยใหม่นั้น เป็นความจำเป็นที่จะต้องหารูปแบบความชอบธรรมทางการปกครองแบบใหม่เช่นกัน ในศตวรรษที่ 16 คำอธิบายแบบ Saint Thomas Aquinas ที่มองว่าการปกครองนั้นถูกผูกโยงเข้ากับพระผู้เป็นเจ้าผ่านพระราชา มาสู่รูปแบบใหม่ที่ต้องการแสวงหาวิธีการปกครองใหม่ๆ เมื่อก้าวเข้าสู่คริสต์ศตวรรษที่ 17 การเกิดขึ้นของรัฐสมัยใหม่ภายใต้ขอบเขตของการเปลี่ยนถ่ายผลประโยชน์จากตัวเจ้าผู้ปกครองมายังรัฐและการสถาปนาอำนาจอธิปไตยที่เป็นผลจากการปฏิเสธความคิดแบบเทวสิทธิ์และการย้ายปรัชญาและวิธีคิดทั้งหมดมาอยู่ที่มนุษยนิยม ทั้งหมดนำมาสู่การสถาปนาเรื่องของเหตุผลของรัฐ

เหตุผลของรัฐนั้นเป็นสิ่งที่ออกแบบมาเพื่อรองรับกับรัฐ ภายใต้ตรรกะความมั่นคงและการมีอยู่ของรัฐแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างที่รองรับกับรัฐจึงเป็นไปได้ ภายในข้ออ้าง “ความมั่นคง” การมีอยู่ของเหตุผลของรัฐเป็นการตอกย้ำว่าตัวรัฐคือสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะรัฐนั้นเป็นเสมือนกับศาสนาที่ให้ได้ทั้งการเกิดและการตาย การเป็นบุคคลไร้สถานะไม่ว่าจะเกิดหรือตายภายในโลกสมัยใหม่ เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ดังนั้นรัฐจึงเป็นสิ่งที่ไม่เอาหลังผิงฝาก็จำเป็นต้องก้มลงกราบ

ด้วยเหตุผลของรัฐและความมั่นคงที่มีความจำเป็น ทำให้รัฐต้องสรรหาวิธีการที่จะควบคุมหรือตรวจสอบบุคคลอย่างละเอียดโดยเคร่งครัด แต่ไม่ให้รู้สึกว่าตนกำลังถูกควบคุมอยู่ ภายใต้กรอบคิดเช่นนี้ วิธีการทางเศรษฐศาสตร์จึงถูกเข้ามาใช้ในการเมือง ร่วมกับสิ่งที่เรียกว่า สถิติ ในฐานะของการตรวจสอบประชาชนภายใต้การวางแผนเพื่อที่จะทำให้รัฐเข้าหลักการเศรษฐศาสตร์มากที่สุด นั่นก็คือ ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ ให้มากที่สุด

ทั้งหมดนี้คือกรอบทฤษฏีโดยคร่าว กรอบทฤษฏีเหล่านี้จะมีความเหมาะสมและแปรเปลี่ยนไปคำถามในสถานการณ์ปัจจุบันในรูปแบบใด? คำอธิบายในเรื่องของเหตุผลของรัฐเป็นไปได้หรือไม่? โลกเสรีอย่างอินเตอร์เน็ตและการสื่อสารมีพรมแดนหรือไม่? ที่สุด มนุษย์เราจะถูกปกครองอย่างไรภายใต้สภาวการณ์เช่นนี้? 

อ้างอิง

[1] “Basically, if I had wanted to give the lectures I am giving this year a more exact title, I certainly would not have chosen “security, territory, population.” What I would really like to undertake is something that I would call a history of “governmentality.”” โปรดพิจารณา Foucault, Michel, Security, Territory, Population, Trans. Graham Burchell (Basingstoke: Palgrave Macmillan, 2007), 108.

[2] Giovanni Antonio Palazzo เป็นนักคิดทางการเมืองอยู่ในอิตาลี มีผลงานที่สำคัญคือ “Discorso del governo e della ragion vera di stato” หรือ “Discourse of government and true reason of the State” (1898) หาอ่านได้จาก < http://books.google.com/books?id=k_UTAAAAQAAJ&ots=S1t097AmfO&dq=%22Giovanni%20Antonio%20Palazzo%22&pg=PT1#v=onepage&q&f=false>

[3] Foucault, Michel, Security, Territory, Population, Trans. Graham Burchell (Basingstoke: Palgrave Macmillan, 2007), 256.

[4] Foucault, Michel, Security, Territory, Population, Trans. Graham Burchell (Basingstoke: Palgrave Macmillan, 2007), 232-233.

[5] Ibid, 290-291.

[6] Tilo Schabert, “Modernity and Histroy I: What is Modernity?,” in The Promise of History: essays in political philosophy, ed. Athanasios Moulakis (New York: Walter de Gruyuer: 1985), 9-21. และ Foucault, 234-235.

[7] เมื่อใช้กรอบนี้พิจารณาเหตุการณ์ในวันที่ 19 กันยายน 2549 ก็จะพบว่าเป็นความหวาดระแหวงของรัฐที่มองว่าเสรีนิยมประชาธิปไตยจะเข้ามาจำกัดบทบาทของรัฐ และในที่สุดก็เกิดการรัฐประหารเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสังเกตคือคำนิยามของรัฐไทยนั้นเป็นเช่นไร ยังคงเป็นนิยามแบบ St. Thomas Aquinas อยู่หรือไม่ หรือเป็นรัฐในนิยามแบบสมัยใหม่ที่มีดินแดนและเหตุผลของรัฐ หรือเป็นรัฐที่ยังใช้นิยามแบบ Personal State อยู่กันแน่ โปรดพิจารณา Foucault, Michel, Security, Territory, Population, Trans. Graham Burchell (Basingstoke: Palgrave Macmillan, 2007), 227-253.

[8] Foucault, Michel, The Birth of Biopolitics, Trans. Graham Burchell (Basingstoke: Palgrave Macmillan, 2008), 5.

[9] Foucault, Michel, Security, Territory, Population, Trans. Graham Burchell (Basingstoke: Palgrave Macmillan, 2007), 261.

[10] Ibid, 262.

[11] ธเนศ วงศ์ยานนาวา, “เฮ้ย… ผมเรียกมันเลยว่า “คณะปฏิกูล”,” ใน รัฐประหาร 19 กันยา รัฐประหารเพื่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข, ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการ (กรุงเทพ: สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน, 2550), 178.

[12] Foucault, Michel, Security, Territory, Population, Trans. Graham Burchell (Basingstoke: Palgrave Macmillan, 2007), 262.

[13] ในที่นี้แปลว่า การรัฐประหารจึงมิใช่การประหารรัฐ แต่น่าจะเป็นการประหาร (รัฐบาล) โดยรัฐ ภายใต้ตรรกะของความมั่นคง โปรดพิจารณา ธเนศ วงศ์ยานนาวา, อ้างแล้ว.

[14] อ้างแล้ว, 177-178.

[15] Foucault, Michel, Security, Territory, Population, Trans. Graham Burchell (Basingstoke: Palgrave Macmillan, 2007), 266.

[16] ธเนศ วงศ์ยานนาวา, อ้างแล้ว, 177.

[17] อ้างแล้ว.

[18] Foucault, Michel, Security, Territory, Population, Trans. Graham Burchell (Basingstoke: Palgrave Macmillan, 2007), 263.

[19] Foucault, ibid, 108-109.

[20] สุภางค์ จันทวานิช, ทฤษฎีสังคมวิทยา(กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2553), 279.

[21] ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร, วาทกรรมการพัฒนา(กรุงเทพฯ: วิภาษา, 2549), 39.

[22] มิเชล ฟูโกต์, “ว่าด้วยการปกครอง,” แปล ธเนศ วงศ์ยานนาวา, วารสารสังคมศาสตร์ ปีที่ 30, ฉบับที่ 3 (2539): 114-120.

[23] ธเนศ วงศ์ยานนาวา, “การแลกเปลี่ยนทางความคิดกับความ “ทัศนะ ‘ชุมชน’ กับการปกครองชีวญาณ : อำนาจที่ซ่อนเร้นในสาธารณสุขไทย,” รัฐศาสตร์สาร ปีที่ 27, ฉบับที่ 1 (2549): 40-53.

[24] ชิเกฮารุ ทานาเบ, ชุมชนกับการปกครองชีวญาณ: กลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวีในภาคเหนือของประเทศไทย (กรุงเทพ:ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2551).

[25] Foucault, Michel, Security, Territory, Population, Trans. Graham Burchell (Basingstoke: Palgrave Macmillan, 2007), 90-91. Guillaume de La Perrière เป็นนักวิชาการทางสายมนุษยศาสตร์ของฝรั่งเศสในช่วงการฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ (Renaissance) ซึ่งงานที่ออกมาตอบโต้กับ Machiavelli คือ Le Miroir Politique

[26] Foucault, ibid, 93-95.

Photo by Pixabay from Pexels

เรื่องแนะนำ

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here